กระทรวงสาธารณสุข จัดบริการทางการแพทย์ขั้นสูงในทุกเขตสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้าน มีระบบส่งต่อที่ไร้รอยต่อ เชื่อมโยงจากระดับปฐมภูมิถึงศูนย์เชี่ยวชาญด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูง ลดอัตราป่วย อัตราตาย ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย และลดค่าใช้จ่าย
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร
วันนี้ (16 สิงหาคม 2561) ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ “Service Plan Sharing ครั้งที่ 5 Service Plan รวมใจ ก้าวไกล 4.0” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอผลงานเด่นแต่ละสาขา โดยคัดเลือกผลงานเด่นด้านวิชาการและนวัตกรรมทั้ง 19 สาขา นำเสนอด้วยวาจา และจัดนิทรรศการ/โปสเตอร์ สาขาละ 7 เรื่อง รวม 133 เรื่องจากทั้งหมด 393 เรื่อง เพื่อเป็นต้นแบบนำไปปรับใช้ในเขตสุขภาพ โดยมีผู้บริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาค คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับประเทศและทุกเขตสุขภาพ ผู้บริหารสำนักงานเขตสุขภาพ ราชวิทยาลัย ผู้ปฏิบัติงาน และภาคีเครือข่ายร่วมประชุม 1,400 คน
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาระบบบริการตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการเพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพใกล้บ้าน ลดความเหลื่อมล้ำ มีระบบส่งต่อที่ไร้รอยต่อ เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับปฐมภูมิไปจนถึงศูนย์เชี่ยวชาญที่ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูง ตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 19 สาขาที่เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ได้แก่ โรคหัวใจ, โรคมะเร็ง, อุบัติเหตุและฉุกเฉิน, ทารกแรกเกิด, สุขภาพจิตและจิตเวช, ระบบบริการปฐมภูมิและสุขภาพอำเภอ, สุขภาพช่องปาก, ไต, ตา, โรคไม่ติดต่อ, การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน, การรับบริจาคและการปลูกถ่ายอวัยวะ, การดูแลระยะเปลี่ยนผ่านผู้ป่วยกึ่งเฉียบพลันและการดูแลแบบประคับประคอง, การพัฒนาระบบบริการให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล, ศัลยกรรม, ยาเสพติด, อายุรกรรม, แม่และเด็ก และออร์โธปิดิกส์ ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็วและเท่าเทียม ภายในเขตสุขภาพหรือในพื้นที่ใกล้เคียง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรับการรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในส่วนกลาง ทำให้ลดอัตราป่วย อัตราตาย ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย
“การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีความพึงพอใจ ได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ ระบบสาธารณสุขขับเคลื่อนอย่างมั่นคง ยั่งยืน สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพ สังคมผู้สูงอายุ เท่าทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี บุคลากรสาธารณสุข ต้องคิดค้นนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์กับประชาชน นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประมวลผลข้อมูล ติดตามกำกับโครงการ เชื่อมต่อกับส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดขั้นตอนการจัดการและบริการประชาชน เป็นองค์กรดิจิทัลตามนโยบายรัฐบาล” นพ.ปิยะสกล กล่าว
ผลการดำเนินงานอาทิ มีศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ 18 แห่งกระจายในทุกเขตสุขภาพ ลดระยะเวลารอคอยการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด/การสวนหัวใจเหลือ 3 เดือนจากที่กำหนดไว้ไม่เกิน 9 เดือน อัตราตายจากโรคหัวใจลดลงเหลือร้อยละ 11.54 ด้านการรักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยได้รับรังสีรักษาเร็วขึ้นภายใน 6 สัปดาห์ถึงร้อยละ 73 ได้รับเคมีบำบัดภายใน 6 สัปดาห์ร้อยละ 87 มีระบบทางด่วนพิเศษรองรับผู้บาดเจ็บวิกฤตในโรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่ง โดยได้การผ่าตัดภายใน 2 ชั่วโมงหลังผู้ป่วยถึงห้องฉุกเฉิน และจัดตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปครบ 116 แห่ง ในปีงบประมาณนี้ มีผู้บริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลทั่วประเทศรวม 220 ราย ผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายไต ตับ หัวใจแล้ว 501 ราย และผู้ป่วยกระจกตาพิการได้รับการปลูกถ่ายดวงตา 75 ดวงตา ในสาขาสุขภาพจิตและจิตเวช และยาเสพติด ได้เพิ่มบริการผู้ป่วยนอกจิตเวชเด็ก และมีเตียงรับผู้ป่วยฉุกเฉินจิตเวชในโรงพยาบาลศูนย์ในเขต ลดเวลารอคอยไปรักษาในโรงพยาบาลเฉพาะทางจิตเวช
- 64 views