คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันนี้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนชีวิตของคนทุกคน เป็นตัวช่วยต่อยอดหรืออำนวยความสะดวกทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวหรือเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานในทุกๆ มิติ
ในด้านการสาธารณสุขเอง ก็เป็นอีกเซกเตอร์หนึ่งที่นำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ หลายคนอาจคิดถึงเครื่องมือทางการแพทย์ล้ำสมัย การรักษาทางไกลแบบ telemedicine ระบบฐานข้อมูลทางการแพทย์ที่ใหญ่โตและเชื่อมต่อกันทั่วประเทศ แต่จริงๆแล้วยังมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในรูปแบบอื่นๆอีกมากมาย แม้แต่การสื่อสารขั้นพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพก็สามารถสร้างความแตกต่างในการดูแลสุขภาพประชาชนได้ไม่น้อยแล้ว
แอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์” ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ก็หนึ่งในตัวอย่างนวัตกรรมการสื่อสารหรืออีกมุมหนึ่งก็กล่าวได้ว่าเป็นนวัตกรรมกระบวนการใหม่ๆที่ถูกนำมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการดูแลสุขภาพประชาชนให้ดีมากยิ่งขึ้น
อสม.ออนไลน์คืออะไร? หากจะกล่าวให้เฉพาะเจาะจงลงไป แอปฯดังกล่าวก็คือเครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่มที่ใช้ในกลุ่มโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อสื่อสารข้อมูล ภาพ เสียง วิดีโอ ข้อความ และพิกัดแผนที่ระหว่างสมาชิกในกลุ่มผ่านรูปแบบการแจ้งข่าวสารและการสนทนา ทำให้สมาชิกในเครือข่ายสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารและเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุขและภัยสุขภาพภายในชุมชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ฉับไว ถูกต้อง แม่นยำ หรือหากพูดให้เจาะจงลงไปอีก แอปฯดังกล่าวก็คือเครื่องมือช่วยจัดระเบียบการใช้ข้อมูล ภาพ เสียง วิดีโอ ข้อความ และพิกัดแผนที่ ระหว่าง รพ.สต.และ อสม. ให้มีความสะดวกในการใช้งานมากขึ้นนั่นเอง ส่วนจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับตัวผู้ปฏิบัติงานจะนำไปประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งในปีที่ผ่านมาทางเอไอเอสได้จัดประกวดการใช้งานแอปฯอสม.ออนไลน์ขึ้นเป็นปีแรก และมีตัวอย่างหน่วยบริการหลายแห่งที่สามารถนำเครื่องมือนี้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างน่าประทับใจ
กรกมล ศรีใจมั่น ผู้อำนวยการ รพ.สต.ไทรงาม จ.นครปฐม
กรกมล ศรีใจมั่น ผู้อำนวยการ รพ.สต.ไทรงาม จ.นครปฐม หนึ่งหน่วยบริการที่ได้รางวัลดีเด่นระดับประเทศการประกวดใช้งานแอปฯอสม.ออนไลน์ในปีที่ผ่านมา กล่าวถึงรูปแบบการนำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้ว่า ด้วยความที่ลักษณะพื้น รพ.สต.ไทรงามมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน การทำงานก็จะมีทั้งทางบกและทางน้ำ ทำให้การดูแลประชาชนค่อนข้างยาก ประกอบกับระยะทางในการเดินทางของ อสม.มายัง รพ.สต.ค่อนข้างไกลประมาณ 30 กม. แต่ละเดือนจะต้องมีการประชุมกันอย่างน้อย 2-3 ครั้ง จึงได้นำแอปฯ อสม.ออนไลน์มาช่วยในการสื่อสารเพื่อลดความเสี่ยงในการเดินทางของอสม. ซึ่งก็ช่วยประหยัดเวลา ค่าน้ำมันและต้นทุนธุรการอื่นๆลงได้มาก
สำหรับรูปแบบการใช้งานนั้นจะใช้ทั้งการสื่อสารระหว่างตัวเจ้าหน้าที่ รพ.สต. และ อสม. และการสื่อสารเพื่อดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชน ยกตัวอย่างเช่น การนัดหมายประชุมก็สามารถแจ้งนัด และ อสม.ตอบกลับได้ว่ามาประชุมหรือไม่ ถ้าไม่มาเพราะเหตุใด ทำให้ช่วยลดการใช้กระดาษลงได้ถึง 40% จากเมื่อก่อนที่ต้องพิมพ์เอกสารไว้รอ 100% นอกจากนี้ยังสามารถแจ้งผลการประชุมให้คนที่ไม่มาได้รับทราบ ช่วยให้สื่อสารได้ไม่ตกหล่น อสม.ไม่ต้องเดินทางมารับข่าวสารด้วยตัวเองที่ รพ.สต. ช่วยประหยัดทั้งน้ำมันและค่าโทรศัพท์เพราะแอปฯนี้ให้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี
หรือในการดูแลผู้ป่วย รพ.สต.ก็สามารถติดต่อแบบสองทางกับ อสม. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นข้อความตัวอักษร ภาพ หรือเสียง เวลา อสม.ไปเยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในชุมชนก็สามารถส่งภาพถ่ายหรือวิดีโออาการของผู้ป่วยมาให้เจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่เห็นภาพคนไข้ได้ชัดเจนและสามารถแนะนำแก้ไขปัญหาคนไข้ได้โดยตรง
เช่นเดียวกับ สมจิตร บุญยง ผู้อำนวยการ รพ.สต. กุดบง จ.หนองคาย อีกหนึ่งในหน่วยบริการที่ได้รับรางวัลดีเด่นระดับประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา กล่าวถึงการใช้งานแอปฯดังกล่าวว่า เดิมที รพ.สต.จะสื่อสารกับ อสม.ผ่านทางกลุ่มไลน์ แต่มีข้อจำกัดในการเก็บงาน กล่าวคือข้อมูลที่ส่งทางไลน์จะมีอายุประมาณ 1 สัปดาห์ ต่อมาทาง รพ.สต.ได้สมัครใช้งานแอปฯดังกล่าวเพื่อเล็งเห็นประโยชน์ในหลายๆด้าน เช่น ส่งรูปแล้วไม่หายเหมือนไลน์ สามารถกลับมาดึงไปใช้ได้ตลอดเวลา อสม.อยู่ที่ไหนก็ส่งข้อมูล ถ่ายรูปส่งรายงานได้ทันที ส่วน รพ.สต.ก็ได้ประโยชน์ในการเก็บงานจาก อสม. เพราะจะมีการแยกห้องสนทนาเป็นส่วนๆ ห้องประชาสัมพันธ์ ห้องนัดประชุม ห้องรับค่าป่วยการ ฯลฯ ทำให้สะดวกในการใช้ ต่างจากไลน์ที่มีอยู่ห้องเดียวใครอยากจะพูดอะไรก็พูดปนกันไปหมด
“เราใช้แอปฯนี้ในการสื่อสารกันทุกเรื่อง ทั้งการให้ความรู้ ข่าวประชาสัมพันธ์ นัดประชุม หรือเวลา อสม.ออกเยี่ยมคนไข้ก็จะส่งรูปกลับมาให้ดู รพ.สต.ก็เก็บงานได้ ที่สำคัญคือตอบโจทย์ในการดูแลผู้ป่วยอย่างมาก เพราะเมื่อ อสม.ส่งรูปมา เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ก็จะได้ศึกษาก่อนลงไปในชุมชนว่าผู้ป่วยแต่ละคนต้องเตรียมอะไร ต้องเตรียมทีมสหวิชาชีพหรือแค่ รพ.สต.ดูแลเองได้ ถ้าเคสไหนต้องใช้ทีมสหวิชาชีพก็ประสานโรงพยาบาลเพื่อขอความช่วยเหลือ จุดนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ในการวางแผนการดูแลได้อย่างมาก ขณะที่ อสม.เองก็มีเสียงสะท้อนกลับมาว่ามีความมั่นใจในการดูแลคนไข้มากขึ้น ตัวคนไข้ในชุมชนก็ให้ความเชื่อมั่นกับ อสม.มากขึ้นด้วย”สมจิตร กล่าว
ด้าน วัฒนชัย ไชยจิตต์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.วังประจัน จังหวัดสตูล กล่าวว่า ไฮไลท์สำคัญในการนำแอปฯอสม.ออนไลน์มาใช้ในพื้นที่คือการค้นหาและรายงานข้อมูลกายอุปกรณ์ เช่น รถเข็น ถังออกซิเจน ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน เป็นต้น เนื่องจากในภาพรวมแล้วมีคนที่เข้าถึงกายอุปกรณ์เหล่านี้น้อยมาก เนื่องจากระเบียบราชการมีข้อกำหนดว่าผู้ที่จะได้รับกายอุปกรณ์เหล่านี้ต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ ดังนั้นคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนผู้พิการไว้ เช่น ผู้ป่วย Long Term Care ที่ถูกส่งกลับมาดูแลที่บ้านและต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องก็ยังสามารถเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ได้โดยไม่ต้องสร้างภาระแก่ญาติในการเช่าหรือซื้ออุปกรณ์มาใช้ที่บ้าน ด้วยเหตุนี้ในพื้นที่ รพ.สต.วังประจัน จึงมีการจัดตั้งศูนย์กายอุปกรณ์เพื่อฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้สูงอายุ และผู้พิการในชุมชนตำบลวังประจัน ซึ่งดำเนินการในลักษณะของการส่งเสริมป้องกัน กล่าวคือมีเครื่องไม้เครื่องมือเตรียมพร้อมสำหรับให้คนในชุมชนไว้ใช้ ดังนั้นคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนผู้พิการไว้ก็สามารถมายืมใช้กายอุปกรณ์เหล่านี้ได้
ทั้งนี้ รูปแบบการจัดหากายอุปกรณ์จะมี 2 แบบ คือจัดซื้อและรับบริจาค เช่น จากผู้ป่วยที่ฟื้นฟูอาการแล้ว ซึ่งในส่วนของการรับบริจาคนั้น เวลา อสม.ออกเยี่ยมบ้านแล้วพบว่าบ้านไหนมีเครื่องมือเหล่านี้แล้วไม่ได้ใช้ก็จะสื่อสารผ่านแอปฯ อสม.ออนไลน์ ไปยังศูนย์กายอุปกรณ์ฯเพื่อนำไปเก็บรักษา ในทางกลับกัน เมื่อ อสม.ออกเยี่ยมบ้านและพบผู้ที่ต้องการใช้กายอุปกรณ์ ก็จะสื่อสารผ่านแอปฯให้ส่งอุปกรณ์เหล่านี้เข้าไปช่วยเหลือ รวมทั้งยังใช้สื่อสารหรือขอคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่ในเรื่องการดูแลผู้ป่วยด้วย
นอกจากนี้ เนื่องจากปีที่ผ่านมา รพ.สต.วังประจัน ได้รางวัลดีเด่นระดับประเทศ จึงได้นำเงินรางวัลที่ได้จากการประกวดมาจัดซื้อเพิ่มเติมเข้าไปเข้าไปอีก โดยไม่ต้องใช้เงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ขณะที่ปีนี้ ก็จะเพิ่มน้ำหนักการนำแอปฯอสม.ออนไลน์ไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงให้เข้มข้นขึ้นอีกด้วย
วิไล เคียงประดู่
ขณะที่ วิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ของเอไอเอส กล่าวว่า รพ.สต.วังประจัน จ.สตูล ได้นำเงินรางวัลส่วนหนึ่งไปจัดซื้ออุปกรณ์สมทบกองทุนกายอุปกรณ์สำหรับฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากต่อผู้ป่วยในระยะยาวทั้งในการทำงานและต่อประชาชนในพื้นที่ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างดีๆที่ทีมที่ชนะการประกวดนำมาแลกเปลี่ยนกัน
- 1556 views