เอไอเอสตั้งเป้าปี 2560 ขยายการใช้งานแอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์” จากปัจจุบันที่ใช้งานแล้ว 88 แห่ง ด้าน อสม.ชี้ ใช้เทคโนโลยีช่วยทำงานได้ประโยชน์เพียบ ประหยัดเวลา ลดค่าเดินทางมาประชุม มีเวลาทำมาหากินมากขึ้น
นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า หลังจากเปิดตัวแอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์” ซึ่งเป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการทำงานในการติดต่อสื่อสารระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยเริ่มใช้งานครั้งแรกที่ จ.นครราชสีมา เมื่อปลายปี 2558 ตลอดจนขยายพื้นที่การใช้งานในพื้นที่ภาคกลาง โดยมี รพ.สต.ไทรงาม อ.บางเลน จ.นครปฐม เป็นพื้นที่ต้นแบบในเดือน มิ.ย. 2559 จนถึงปัจจุบันได้ขยายการใช้งานใน รพ.สต.พื้นที่อื่นๆ อีกประมาณ 88 แห่ง แบ่งเป็นภาคเหนือ 15 แห่ง ภาคกลาง23 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 31 แห่งภาคตะวันออก 8 แห่ง ภาคตะวันตก 4 แห่ง และภาคใต้ 7 แห่ง
นางวิไล กล่าวอีกว่า เป้าหมายในปี 2560 นี้ เอไอเอสตั้งเป้าขยายการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ไปยัง รพ.สต.ทั่วประเทศ ด้วยเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ สามารถเข้าไปช่วยให้การทำงานสาธารณสุขเชิงรุกมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การดูแลคนในชุมชนได้รับประโยชน์ไปด้วย
ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2559 รางวัลชมเชยด้านสังคม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ รางวัลดังกล่าวเป็นการประกาศเกียรติคุณให้กับผู้คิดค้นพัฒนาผลงานนวัตกรรมที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมความสำเร็จด้านนวัตกรรม ซึ่งมีการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์บนฐานความรู้ ตลอดจนจะเป็นการกระตุ้นให้สังคมไทยเกิดความตื่นตัวและสนใจนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น
นางกรกมล ศรีใจมั่น ผู้อำนวยการ รพ.สต.ไทรงาม กล่าวว่า ภารกิจหลักของ รพ.สต.ไทรงาม คือต้องดูแลคนในชุมชนจำนวน 11 หมู่บ้าน 1,133 หลังคาเรือน ซึ่งมีประชากรทั้งหมดราว 5,254 คน โดยมีเครือข่าย อสม.จำนวน 65 คนที่เข้ามาช่วยลงพื้นที่ดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่พื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบที่กว้างขวาง ระยะทางไกลที่สุดคือ 25 กิโลเมตร จาก รพ.สต. ดังนั้น การติดต่อสื่อสารระหว่าง รพ.สต.และ อสม.จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยภายหลังจากที่ รพ.สต.ไทรงาม ได้นำแอปพลิคชัน อสม.ออนไลน์ เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการทำงานสาธารณสุขเชิงรุก พบว่าได้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น รพ.สต.ได้รับรายงานประจำเดือนจาก อสม.ที่มีข้อมูลรายละเอียดพร้อมรูปภาพที่ชัดเจน แม่นยำ และรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจาก อสม.สามารถถ่ายภาพประกอบการส่งรายงานให้กับ รพ.สต.ได้รับทราบทันที อาทิ การส่งภาพการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย การถ่ายบาดแผลผู้ป่วยภาพการพัฒนาการของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ภาพบริบทสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของผู้ป่วย เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยลดการประชุมประจำเดือนลงจากที่เคยประชุมเดือนละ 2-3 ครั้ง เหลือเพียงเดือนละ 1ครั้งเท่านั้น เนื่องจากหากต้องการแจ้งข้อมูล หรือข่าวด่วนเกี่ยวกับสาธารณสุขก็สามารถส่งผ่านทาง อสม.ออนไลน์ได้ทันทีโดยไม่ต้องเรียกประชุมด่วนหรือรอให้ถึงวันนัดประชุมประจำเดือนเหมือนในอดีต ส่งผลให้การใช้ทรัพยากรของ รพ.สต.ลดจำนวนลง เช่น ตั้งแต่ใช้ อสม.ออนไลน์มาประมาณ 7 เดือน รพ.สต.ใช้กระดาษเพื่อถ่ายเอกสารการประชุมแต่ละครั้งลดน้อยลงได้ถึง 62% เป็นต้น
ด้าน ว่าที่ร้อยตรีชัชวาล แจ้งขำ ประธาน อสม.ตำบล และประธาน อสม.หมู่ 2 รพ.สต.ไทรงาม กล่าวว่า ในอดีตตนไม่เห็นความสำคัญและความจำเป็นในเรื่องเทคโนโลยีเพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่พอได้เริ่มใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ก็ทำให้ความคิดเปลี่ยนไป โดยประโยชน์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือช่วยประหยัดค่าน้ำมันลงถึงสัปดาห์ละ 350 บาทในการเดินทางเข้ามายัง รพ.สต. เพราะบางเดือนมีการประชุมหลายครั้ง แต่ปัจจุบันหาก รพ.สต.มีเรื่องด่วน หรือจะแจ้งข่าวสารแก่ อสม.ก็สามารถส่งผ่าน อสม.ออนไลน์ได้ทันที และได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ชัดเจน เพราะมีหัวข้อเรื่องที่เฉพาะ แยกให้เห็นเด่นชัด อสม.ก็จะรับรู้ได้โดยไม่ต้องเข้าไปประชุมที่ รพ.สต. และยังช่วยลดเวลาในการทำรายงานเกี่ยวกับหน้าที่ อสม. ลงจากเดิมต้องใช้เวลาสัปดาห์ละ 2 วัน ปัจจุบันเหลือเพียงครึ่งวันเท่านั้น เนื่องจากสามารถส่งรายงาน หรือข้อมูลที่ รพ.สต.ต้องการผ่านทาง อสม.ออนไลน์ได้เลย
นางอรทัย เปรื่องระบิน อสม.หมู่ 7 รพ.สต.ไทรงาม กล่าวว่า ตั้งแต่ได้เริ่มใช้งาน อสม.ออนไลน์ ได้รับประโยชน์ในหลายเรื่อง เช่น การลดจำนวนการเข้ามายัง รพ.สต.จากในอดีตต้องเข้ามาเดือนละ 2-3 ครั้ง เหลือเพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น ส่งผลให้มีเวลาเพิ่มขึ้นเพื่อไปทำไร่ทำนา และยังมีเวลาเพิ่มขึ้นเพื่อไปทำงานเสริมอื่นๆ เพื่อหารายได้เพิ่มเติมได้อีก นอกจากนี้ หากครั้งใดที่ตนไม่สามารถมาเข้าร่วมประชุมประจำเดือนที่ รพ.สต.ได้ ก็ยังสามารถติดตามอ่านบันทึกสรุปการประชุมได้ผ่านทางแอปฯ ดังกล่าวซึ่งถือว่าสะดวก ไม่ตกข่าว และไม่ต้องเข้ามารับเอกสารย้อนหลังที่ รพ.สต. ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก
ที่สำคัญ หากผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยมีข้อซักถาม อสม. เพิ่มเติม หากเป็นข้อมูลความรู้ที่ทาง รพ.สต.เคยส่งเข้ามาและมีอยู่ในแอปฯ แล้ว อสม.ก็จะเปิดข้อมูลและให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยได้ทันที หรือในบางครั้งก็มีการติดต่อกับ ผอ.รพ.สต.หรือพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ รพ.สต.เพื่อตอบข้อซักถามของผู้ป่วยผ่านทางแอปฯ ได้ทันที
“เวลา อสม.สามารถตอบข้อสักถามเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ที่ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยสอบถามได้ แค่นั้นก็ถือเป็นคุณค่าที่เราได้ทำประโยชน์ให้แก่คนในชุมชน” นางอรทัย กล่าว
- 22 views