จากความอุกอั่ง-คับข้องใจ สู่ธรรมนูญสุขภาพตำบลเอราวัณ ปลัดเทศบาลฯ เผยเปิดวงรับฟังเสียงชาวบ้าน 16 วัน 16 หมู่บ้าน ตกผลึกเป็นข้อบังคับ-กติกาชุมชนหรือธรรมนูญสุขภาพ ยกระดับสู่เทศบัญญัติ ล้อมคอกวาระร้อน “ช็อตปลา-ขยะมูลฝอย”
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2561 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร (Press Tour) ณ ต.เอราวัณ อ.เอราวัณ จ.เลย เพื่อติดตามรูปธรรมความสำเร็จในการใช้ธรรมนูญสุขภาพระดับตำบล เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน โดยเฉพาะประเด็นหลักที่ชาวบ้านคับข้องใจ ประกอบด้วย 1.การแก้ไขปัญหาการใช้ไฟฟ้าช็อตปลาในฝายโพนเลาด้วยการกำหนดกติกาชุมชนและพัฒนาสู่การจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และ 2.การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยล้นชุมชนด้วยการจัดตั้งธนาคารขยะ
นางพวงเพ็ชร ทองปั้น
นางพวงเพ็ชร ทองปั้น ชาวบ้าน ต.เอราวัณ จ.เลย เปิดเผยว่า ชาวเอราวัณส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย พออยู่พอกิน ยังชีพด้วยการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การประมง และอยู่ร่วมกันอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในชุมชน โดยพบว่ามีบุคคลภายนอกเข้ามาใช้แหล่งน้ำ มีการทำประมงอย่างทำลายล้างด้วยการเบื่อปลา การใช้ไฟฟ้าช็อตปลา ส่งผลให้จำนวนปลาลดลงเป็นจำนวนมาก และชาวบ้านได้รับผลกระทบโดยตรง
“ที่ผ่านมาเราใช้แหล่งน้ำโดยไม่มีการกำหนดระบบระเบียบใดๆ แต่ก็ใช้เครื่องมือที่ไม่รุนแรง เช่น เบ็ด ยกสะดุ้ง หว่านแห แต่เมื่อมีบุคคลนอกเข้ามาใช้แหล่งน้ำก็เริ่มมีการใช้เครื่องมือที่ไม่เหมาะสม คือใช้ยาเบื่อปลา ใช้ไฟฟ้าช็อตปลา ใช้หม้อแปลง และจับปลาทีละมากๆ เกินความพอดี ตรงนี้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นความอุกอั่ง (อึดอัด-คับข้องใจ) ของคนในชุมชน” นางพวงเพ็ชร กล่าว
นางพวงเพ็ชร กล่าวต่อไปว่า พฤติกรรมของคนนอกพื้นที่คือจะลักลอบเข้ามาช็อตปลาในช่วงกลางคืน ไม่นานจำนวนปลาก็ลดลง ปลาบางชนิดสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ ชาวบ้านทั้งเสียใจและเจ็บใจที่หากินกันไม่ได้ ตรงนี้คือความทุกข์ความอุกอั่ง จึงเห็นตรงกันว่าจำต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขปัญหา
นายอุเทน แสงนาโก
นายอุเทน แสงนาโก ปลัดเทศบาลตำบลเอราวัณ อ.เอราวัณ จ.เลย กล่าวว่า นอกจากปัญหาการช็อตปลาในบริเวณฝายโพนเลาแล้ว จากการพูดคุยกับชาวบ้านพบว่ายังมีปัญหาความอุกอั่งในอีกหลายเรื่อง จึงได้ชักชวนตัวแทนชาวบ้านมาล้อมวงระบายความคับข้องใจ จากนั้นเทศบาลตำบลเอราวัณได้นำ “ธรรมนูญสุขภาพ” หรือการทำ “กติกาชุมชน” ซึ่งเป็นเครื่องมือตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เข้ามาจัดการปัญหา ด้วยการเปิดเวทีรับฟังปัญหาขึ้นจำนวน 16 ครั้ง ใน 16 หมู่บ้าน ยกร่างขึ้นมาเป็นร่างธรรมนูญสุขภาพตำบลเอราวัณ และประกาศใช้เป็น “ธรรมนูญสุขภาพสู่ตำบลสุขภาวะของประชาชนตำบลเอราวัณ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2558” ในวันที่ 5 ธันวาคม 2558
“กระบวนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบลเอราวัณ เริ่มจากคำว่า ‘อุกอั่ง’ ที่หมายถึงความคับข้องใจ ซึ่งในเวทีประชาคมได้สอบถามชาวบ้านด้วยเป็นคำถามง่ายๆ ว่าพวกเขามีความอุกอั่งกันอย่างไร และอยากให้ชุมชนและคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างไร จากนั้นได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาสรุป จัดแบ่งหมวดหมู่ของปัญหา ยกร่างขึ้นเป็นร่างธรรมนูญสุขภาพตำบลเอราวัณ ถกแถลง รับฟังความคิดเห็น ประกาศใช้ และผลักดันเข้าสู่การรับรองเป็นเทศบัญญัติเพื่อให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย ภายใต้แนวคิด 5 ร. คือร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปรับปรุง ร่วมรับประโยชน์” นายอุเทน กล่าว
นายอุเทน กล่าวอีกว่า ธรรมนูญสุขภาพเหมือนกับกฎกติกาที่เปิดช่องให้สามารถปรับแก้ได้ ซึ่งทั้งชาวบ้านและคณะทำงานมีสิทธิที่จะเสนอให้แก้ไขได้ โดยหลังจากตำบลเอราวัณประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพมาเป็นเวลา 2 ปี ทางคณะทำงานจึงได้เสนอให้มีการทบทวนเพื่อสร้างความชัดเจนในบทบัญญัติที่ยังไม่คม รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจใหม่ที่ต่อยอดจากการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพฉบับแรก เช่น โครงการขยะรีไซเคิล โครงการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และนำมาสู่การประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพสู่ตำบลสุขภาวะของประชาชนตำบลเอราวัณ พ.ศ.2558 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2561)
สำหรับตัวอย่างบทบัญญัติในธรรมนูญที่ถูกแปลงมาเป็นแนวทางปฏิบัติ อาทิ ธรรมนูญสุขภาพตำบล หมวดที่ 4 ว่าด้วยการส่งเสริมพัฒนารักษาสิ่งแวดล้อม ข้อที่ 22 ที่ระบุว่า มีการบริหารจัดการขยะในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อที่ 25 ระบุว่า ห้ามมีหรือใช้อุปกรณ์ช็อตปลา
นายคงเดช วรรณชัย นายกเทศมนตรีตำบลเอราวัณ กล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมาหน่วยราชการจะเข้าไปรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านและจัดทำเป็นเทศบัญญัติ แต่การมีข้อบังคับที่ออกมาจากความสมัครใจของตัวชาวบ้านเอง หรือที่เรียกว่า ‘ธรรมนูญสุขภาพ’ ย่อมเกิดประสิทธิภาพได้มากกว่าและมีความยั่งยืนมากกว่า นั่นเพราะถือเป็นเรื่องที่พวกเขาร่วมกันเป็นเจ้าของ เห็นความสำคัญ และอยากจะนำพาชุมชนที่เขาอยู่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม สิ่งสำคัญต่อจากนี้คือการยกระดับให้ความต้องการเหล่านั้นมีประสิทธิภาพที่สุดในทางปฏิบัติ และขยายขอบเขตการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ครอบคลุมในหลายๆ ด้านมากยิ่งขึ้น
นางสุทิน ผลิตนนท์เกียรติ
นางสุทิน ผลิตนนท์เกียรติ รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจังหวัดเลย กล่าวว่า ขั้นตอนที่ต้องใช้ความมุ่งมั่นและความอดทนมากที่สุดในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพคือ การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อเสนอจากคำพูดของชาวบ้านให้เป็นงานทางวิชาการหรือข้อเสนอทางนโยบาย ซึ่งจากการสรุปบทเรียนพบว่า ความสำเร็จของตำบลเอราวัณเกิดจาก 1.การสร้างผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง การเลือกบุคคลที่ใช่ 2.การมีคณะทำงานที่เหมาะสมและสอดคล้องไปกับความถนัด 3.การสร้างจิตสำนึกการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านประเด็นที่สนใจร่วมกัน ทำให้เกิดการระเบิดจากข้างใน 4.การมีความศรัทธาและความต้องการร่วมกันที่อยากจะให้ชุมชนดีขึ้นกว่าเดิม และก้าวไปข้างหน้า
นายวีรพล เจริญธรรม
นายวีรพล เจริญธรรม กรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นโยบายคือข้อตกลงร่วมกันที่จะใช้เป็นแนวทางของสังคม แต่ที่ผ่านมามักไม่เป็นสาธารณะ เนื่องจากคนในสังคมไม่ได้มีส่วนร่วม โดยปัจจุบันประชาชนส่วนหนึ่งกำลังรู้สึกว่าถูกบังคับและต้องการนำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาแบบอื่นๆ ซึ่งแตกต่างออกไปจากที่ถูกกำหนดมาจากข้างบน นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม จึงหมายถึงทิศทางหรือแนวทางที่สังคมโดยรวมตกลงร่วมกันว่า การดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดนั้นเป็นเรื่องที่ใช่และถูกต้อง
นายวีรพล กล่าวต่อไปว่า ตำบลเอราวัณได้ร่วมกันจัดทำธรรมนูญสุขภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ในการจัดการความขัดแย้งและสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืนด้วยกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือคนในตำบลเอราวัณอยู่ดีมีสุข โดยคำว่า “อยู่ดี” หมายถึง การสร้างกติกาที่ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม มีความเป็นเจ้าของ เป็นกติกาที่ผ่านการยอมรับว่ามีความสำคัญและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตได้จริง ถูกนำไปปฏิบัติด้วยความสมัครใจ สร้างความสงบสันติแก่ชุมชน ส่วนการ “มีสุข” หมายถึง เมื่อมีข้อตกลงที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับแล้ว พวกเขาจะใช้เครื่องมือนั้นเป็นพื้นฐานในประกอบอาชีพ สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจชุมชน
“หนึ่งในรูปธรรมของการอยู่ดีมีสุขและเป็นผลสืบเนื่องจากธรรมนูญสุขภาพตำบลเอราวัณก็คือการเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศบริเวณฝายโพนเลา ซึ่งบริหารงานโดยคณะกรรมการชุมชน โดยกิจกรรมการล่องเรือนำมาซึ่งรายได้ของชุมชน ทั้งคนขับรถแต๊ก คนพายเรือ คนทำอาหาร ทำให้เกิดการกระจายรายได้ การจ้างงาน และนำไปสู่ความรักความสามัคคีและความยั่งยืนให้กับชุมชน”
นายวีรพล กล่าวอีกว่า ธรรมนูญสุขภาพระดับตำบลถือเป็นข้อตกลงในภาพกว้างเชิงนโยบาย แต่หัวใจสำคัญคือจำเป็นต้องแปลงธรรมนูญลงมาสู่การปฏิบัติจริงของคนในชุมให้ได้ ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อะไรคือข้อห้าม หากฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษอย่างไร ที่สำคัญคือต้องใช้วิธีการสื่อสารอย่างง่าย และต้องสร้างความรู้สึกให้ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน
- 101 views