เมื่อกลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ชวนลงพื้นที่ ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ เพื่อค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ว่าด้วยการจัดการ “ขยะ”
เป็นที่รู้กันว่าอ่าวนางนั้น มีชื่อติดอยู่ในไกด์บุ๊คทั่วโลก ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ไม่เฉพาะของ จ.กระบี่ แต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย ซึ่งแม้จะมีถนนเลียบชายหาดเชื่อมระหว่างชายหาดอ่าวนาง ไปยังหาดนพรัตน์ธารา ที่เต็มไปด้วยร้านอาหาร บาร์ โรงแรม รวมถึงท่าเรือไปยังเกาะแก่งต่างๆ เช่น ทะเลแหวก เกาะพีพี ความยาว 6 กิโลเมตร แต่ทั้งฟุตบาท ทั้งถนน และตัวชายหาดอ่าวนาง กลับสะอาดสะอ้านกว่าแหล่งท่องเที่ยวอื่น
แต่กว่าจะได้แหล่งท่องเที่ยวที่สะอาดสะอ้าน น่าเที่ยว ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่เกิดจากความเข้มแข็งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ร่วมมือกับคนอ่าวนาง เปลี่ยนให้แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกแห่งนี้ กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบของการจัดการขยะ ซึ่งทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ใช้เป็นที่ศึกษาดูงาน
พวกเขาทำได้อย่างไร..
พันคำ กิตติธรกุล
ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน พันคำ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง ได้เริ่มต้นเปลี่ยนระบบ “จัดการขยะ” ทั้งกระบวนการ เพราะในเวลานั้น ทั้งขยะ ทั้งน้ำเสีย จากนักท่องเที่ยว จากสถานประกอบการ เริ่มล้นถนนเลียบชายหาดแล้ว
หากเป็นพื้นที่อื่น วิธีการจัดการก็คงเป็นการ “ขอความร่วมมือ” หรือ “รณรงค์” ให้คนทิ้งขยะลงถังมากขึ้น แต่ที่ อบต.อ่าวนาง ได้สร้างข้อตกลงใหม่ ที่ไปไกลกว่า คือการกำหนดเวลาทิ้ง และสนับสนุนการ “แยกขยะ” ตั้งแต่ต้นทาง
โดยอาศัยจุดเด่นของพื้นที่ ที่เป็นศูนย์รวมของขยะหลากประเภท ไม่ว่าจะเป็นขยะรีไซเคิล ขวดพลาสติก ขวดแก้ว ซึ่งทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนมาก และทั้งหมดนี้ ล้วนมีราคา ทำให้บรรดาบาร์ ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท ต่างๆ ล้วนจัดระบบ “แยกขยะ” กันถ้วนหน้า
โดย อบต.จะจัดพื้นที่ ให้นำขยะที่แยกแล้ว เพื่อนำไปขาย สร้างรายได้ให้รีสอร์ท และพนักงาน เพิ่มอีกทางหนึ่ง ที่เห็นชัดๆ ก็คือที่ “อ่าวนางวิลลารีสอร์ท” รีสอร์ทติดหาด ซึ่งสามารถแยกขยะพลาสติก ขวดแก้ว ไปขาย ได้เดือนละหลายพันบาท
ส่วนขยะเปียก ก็นำไปทำ “ก๊าซชีวภาพ” และบางส่วน ก็สามารถแบ่งไปทำน้ำหมัก EM หรือทำปุ๋ยได้ ตามแนวคิดของ นพ.วีรพงศ์ สกลกิติวัฒน์ เจ้าของรีสอร์ท
และทั้งหมด ก็กลายเป็น “ผลตอบแทน” นำไปตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือพนักงาน ให้พนักงานสามารถหยิบยืมได้ ในเวลาที่มีภาระ
นพ.วีรพงศ์ สกลกิติวัฒน์
หรือที่ “ปกาสัยรีสอร์ท” ซึ่งขายแนวคิดความเป็น “Eco-Friendly” ก็จัดการรีสอร์ทด้วยการที่ไม่มี “พลาสติก” แม้แต่ชิ้นเดียว การออกแบบรีสอร์ทลดการใช้ไฟฟ้าให้มากที่สุด น้ำใช้แล้วจากแต่ละห้องพัก สามารถผ่านกระบวนการ “กรอง” กลับมาใช้ใหม่ และขยะทุกชิ้นที่เกิดขึ้น ก็เข้าสู่กระบวนการคัดแยก มีการนำขยะเปียกที่รีไซเคิลไม่ได้ ไปทำก๊าซชีวภาพเช่นเดียวกัน
สิ่งที่ตามมาก็คือ ความ “Eco-Friendly” สามารถนำไปขายนักท่องเที่ยวกลุ่มสแกนดิเนเวีย ที่ “รักษ์โลก” ดึงดูดทั้งหมดให้เข้ามาพักที่ปกาสัยรีสอร์ท แม้ราคาจะสูงกว่า แต่นักท่องเที่ยวก็ยินดี ที่ได้ช่วยโลก
ส่วนผู้ประกอบการกลุ่มไหน ที่ไม่มีกำลังในการแยกขยะมากพอ อบต. ก็จัดการให้ “ซาเล้ง” มีหน้าที่เสมือนหนึ่งพนักงานแยกขยะให้กับ อบต.
“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะรวบรวมรายชื่อซาเล้ง ให้ซาเล้งขึ้นทะเบียน กรอกประวัติ พร้อมกับจัด ‘เสื้อกั๊ก’ ให้ซาเล้ง เป็นผู้รวบรวมขยะ คัดแยกขยะ แล้วนำขยะเหล่านี้ ไปขายต่อ โดยแต่ละคน แต่ละกลุ่ม จะมีพื้นที่เฉพาะของตัวเอง” พันคำระบุ
ในแต่ละคืน พอฟ้าเริ่มมืด กลุ่มซาเล้ง ก็จะตระเวนตามตรอกซอกซอย ไปยังรีสอร์ท บาร์ ร้านอาหาร หรือร้านค้า เพื่อรับขยะ ตามเวลาที่นัดหมายไว้กับผู้ประกอบการ
ส่วนซาเล้งอีกกลุ่ม ก็รวมตัวกันในพื้นที่ส่วนกลาง เช่น ที่ตลาดนัดนพรัตน์ธานี ที่ อบต.เป็นผู้กำหนดให้
วิธีการก็คือ เมื่อ “ถุงดำ” จากหลากพื้นที่มารวมกัน “ซาเล้ง” ก็จะช่วยกันกัน “แยกขยะ” เพื่อนำไปขายต่อ โดยหลายครั้ง ถุงขยะที่มาส่ง ก็มากันหลายคันรถ
ไม่น่าเชื่อว่า ในช่วงพีคๆ บางคืน พวกเขาสามารถนำขยะที่แยกได้ ไปขายได้หลายพันบาท บางเดือน มีรายได้สูงถึง 50,000 – 60,000 บาท จากขยะมากกว่า 1,000 กิโลกรัมต่อวัน ในช่วงหน้า “ไฮซีซัน” บางปี
อดิศักดิ์ แซ่หลี
อดิศักดิ์ แซ่หลี เจ้าของซาเล้งขายของเก่า ซึ่งปัจจุบันขับรถกระบะ บอกว่า ดูเหมือนซาเล้ง จะเป็นอาชีพที่คนทั่วไปอาจดูถูก แต่ซาเล้งที่อ่าวนาง เป็นอาชีพที่คน “แย่งกันทำ” โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจฝืดเคือง
ปัจจุบัน อบต.อ่าวนาง รับดูแลซาเล้ง มากกว่า 52 คน และมีพื้นที่ครอบคลุมย่านท่องเที่ยว ย่านเศรษฐกิจทั้งหมด มีการนัดหมายเวลา –สถานที่ เก็บขยะชัดเจน เมื่อถึงเวลาเก็บ ก็ออกไปเก็บขยะ ทำให้ไม่มีเศษซากใดๆ ตกค้าง เขต “เมือง” ของอ่าวนาง และทำให้อ่าวนาง สะอาดเกินหน้าเกินตาแหล่งท่องเที่ยวอื่นไปมาก
และความสะอาด ไม่ใช่เรื่องเล็ก เมื่อเมืองสะอาด ทะเลก็สะอาด และดึงดูดนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก ให้ยินดี “จ่าย” สามารถอัพเกรดเมืองนั้นๆ ให้ “พรีเมียม” ขึ้นไปได้อีก
ส่วนหนึ่งที่ทำให้อ่าวนางสะอาดได้ ก็เป็นเพราะการใช้ “ธรรมนูญสุขภาพ” ซึ่งเป็นเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 อันเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่าง รัฐบาลท้องถิ่น ชุมชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยธรรมนูญสุขภาพ หมู่ที่ 5 บ้านทุ่ง ต.อ่าวนาง มีข้อกำหนดชัดเกี่ยวกับเรื่อง “ขยะ”
เช่น ข้อที่ 3 ประชาชน - สถานประกอบการต้องมีส่วนร่วมในการรักษาความสะอาดเรียบร้อย และห้ามทิ้งขยะลงบนถนน ไหล่ทาง ที่สาธารณะ หากไม่ปฏิบัติตามต้องยินยอมเสียค่าปรับ ครั้งละ 2,000 บาท
และเทศกิจหรือผู้ที่สามารถชี้ตัวผู้กระทำผิดและสามารถเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้ จะได้รับเงินรางวัลส่วนแบ่งจากค่าปรับ จำนวน 1,000 บาท
หรือข้อ 4 ครัวเรือนและสถานประกอบการทุกแห่งต้องนำขยะมูลฝอยบรรจุใส่ถุงดำ และผูกปากถุงให้มิดชิด นำมาวางหน้าบ้านตนเอง หรือจุดที่กำหนด ระหว่างเวลา 19.00 - 24.00 น.
ข้อ 15 ครัวเรือน และสถานประกอบการ มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด ลดปริมาณการใช้ มีการคัดแยกขยะในครัวเรือนของตนเอง และส่งเสริมให้มีการนำขยะไปเพิ่มมูลค่า
จุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนอ่าวนางให้สะอาด จึงมาจากความตั้งใจของคนในพื้นที่ ผนวกกับความ “เข้มแข็ง” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับการจัดการเมืองให้สะอาด
ไม่ต้องเริ่มต้นจากรัฐบาล ไม่ต้องอ้อนวอนจังหวัดให้เป็นผู้ริเริ่ม เพียงแค่คนตัวเล็กๆ ในท้องถิ่น ร่วมมือกัน ใช้เครื่องมืออย่างมีประสิทธิภาพ ก็สามารถเปลี่ยนเมืองให้สะอาดได้
อยู่ที่ว่าจะเริ่มต้นเมื่อไหร่แค่นั้นเอง...
- 251 views