รัฐบาลเล็งออกกฎหมายจัดเก็บเงินสมทบจากยาสูบในอัตรามวนละ 10 สตางค์ เข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการภาครัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มจากเงินที่รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 www.lawamendment.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์เพื่อรับฟังความคิดเห็นทางด้านกฎหมายไทย ได้เผยแพร่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการภาครัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยเป็นร่างกฎหมายที่อยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของกระทรวงสาธารณสุข

โดยระบุหลักการของร่างกฎหมายดังกล่าวว่า

ในปัจจุบันพบว่าเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สนับสนุนให้แก่หน่วยบริการ โดยเฉพาะหน่วยบริการภาครัฐ ไม่เพียงพอ จนทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งส่งผลต่อการจัดบริการสาธารณสุข จึงมีความจำเป็นต้องมีแหล่งเงินเป็นเงินสมทบอื่นเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อสนับสนุนเงินให้แก่หน่วยบริการภาครัฐ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง และจะส่งผลต่อการจัดบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดให้มีการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการภาครัฐ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วยการตราพระราชบัญญัตินี้

และระบุความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายว่า

ด้วยปรากฏว่าหน่วยบริการสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหลายแห่งขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องจัดให้หน่วยบริการสาธารณสุข แม้จะไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ จนอาจส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชน

จึงจำเป็นต้องมีจำนวนเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประเภทอื่นซึ่งเป็นเงินสมทบอื่นเข้ากองทุน นอกเหนือจากเงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีซึ่งมีไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ทั้งนี้ (ร่าง) พระราชบัญญัติจัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการภาครัฐ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้

1. ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีอำนาจจัดเก็บเงินสมทบจากยาสูบในอัตรามวนละ 10 สตางค์

2. ให้ผู้บริโภคเป็นผู้มีหน้าที่ชำระเงินสมทบ

3. ให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตยาสูบหรือผู้นำเข้ายาสูบ เป็นผู้ดำเนินการเรียกเก็บเงินสมทบ

4. ให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบ แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากผู้ผลิตและผู้นำเข้าพร้อมกับการชำระภาษี โดยให้กรมที่จัดเก็บหักค่าใช้จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 1.5 ของเงินสมทบที่จัดเก็บได้ และนำส่งตามมาตรา 39 (2) ของกฎหมายหลักว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

5. ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดสรรเงินที่ได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ ให้หน่วยบริการภาครัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการให้บริการสาธารณสุข ส่งเสริมให้บุคคลสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุข รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจําเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข และค่าใช้จ่ายอื่น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด

ทั้งนี้ เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2561 รายงานถึงกรณีดังกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งให้เร่งจัดทำพระราชบัญญัติดังกล่าว และได้ให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แจ้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมรับมือกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.

หมายเหตุ www.lawamendment.go.th จัดทำขึ้นเมื่อปี 2549 โดย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อรวบรวมกฎหมายปัจจุบัน และให้สามารถนำเสนอร่างกฎหมายใหม่เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นแบบออนไลน์ขึ้น