คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ เห็นชอบกรอบการทำงานเพื่อลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลงร้อยละ 50 ภายในปี 2564 ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ
นพ.ปิยะสกล ให้สัมภาษณ์ว่า การดื้อยาต้านจุลชีพเป็นปัญหาของคนทั่วโลก การแก้ไขต้องดำเนินการทั้งในคน สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (0ne Health Approach) รัฐบาลไทย ได้ประกาศยุทธศาสตร์ชาติด้านการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ พ.ศ.2560-2564 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ให้บรรลุเป้าประสงค์ 5 ข้อ คือ ลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลงร้อยละ 50 ลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ลงร้อยละ 20 และสำหรับสัตว์ลดลงร้อยละ 30 ประชาชนมีความรู้และตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพมีสมรรถนะตามเกณฑ์สากลไม่ต่ำกว่าระดับ 4
นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบข้อเสนอของคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ได้แก่
1.กรอบการทำงานในการเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพระดับประเทศภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว โดยการตั้งคณะทำงานด้านวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสาธารณสุข เกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคประชารัฐ เป็นต้น การเข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังตามแนวทางองค์การอนามัยโลก ซึ่งจะช่วยให้สามารถติดตามผลการดำเนินงานของประเทศ และการนำคู่มือระบบการรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา เป็นมาตรฐานกลางไปปฏิบัติในโรงพยาบาลทั่วประเทศ
2.กรอบการทำงานระดับโรงพยาบาลและประสานงานระดับประเทศ เพื่อจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างบูรณาการในโรงพยาบาล ระยะแรกเริ่มในโรงพยาบาลขนาดใหญ่และขนาดกลาง สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สังกัดกระทรวงอื่น ๆ และ กทม. รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนรวม 226 แห่ง และขยายให้ครอบคลุมทุกแห่งต่อไป และให้กองบริหารการสาธารณสุขและกรมการแพทย์ เป็นหน่วยประสานงานหลักระดับประเทศ
3.การแต่งตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวกับการลดการใช้ยาและพัฒนาระบบข้อมูลการใช้ยาต้านจุลชีพ ภายใต้คณะอนุกรรมการการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในภาคเกษตรและการเลี้ยงสัตว์
4.แผนการขับเคลื่อนการปรับสถานะยาต้านจุลชีพเพื่อควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ ซึ่งจะช่วยให้การจัดประเภทยาต้านจุลชีพเป็นระบบ รวดเร็ว สอดคล้องกับสถานการณ์เชื้อดื้อยา และมีการกระจายยาอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
5.ให้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการให้ความรู้แก่ประชาชน โดยมีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สสส. สช. ร่วมเป็นแกนในการขับเคลื่อนร่วมกับทุกภาคส่วน และตั้งคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ด้านความรู้ประชาชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ
และ 6.ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับประเทศอังกฤษ และกาน่า ธนาคารโลก Wellcome Trust และองค์การสหประชาชาติ ในการจัดประชุม Call to Action on AMR ครั้งที่ 2 วันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2561 ณ ประเทศกาน่า เพื่อแสดงจุดยืนและบทบาทของไทยในการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในเวทีโลก โดยจะเสนอมติที่ได้จากการประชุมวันนี้ต่อคณะกรรมการนโยบายต้านจุลชีพแห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป
“ขอฝากประชาชนว่า ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อกินเอง เพราะไม่ใช่ยาสารพัดนึก ไม่ทำให้หายหวัด หายเจ็บคอ เพราะเป็นอาการที่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย ขอให้พักผ่อนให้เพียงพอ เช็ดตัว กินยาลดไข้ ยาแก้ไอ ที่สำคัญหากกินยาไม่ครบก็อาจเกิดการดื้อยาได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบคืบหน้าการดำเนินงาน ซึ่งพบว่ามีความหน้าเป็นที่น่าพอใจ อาทิ การจัดทำร่างแผนปฏิบัติการการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 การประกาศนโยบายการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในโรงพยาบาลเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคหวัด เจ็บคอ และท้องร่วงเฉียบพลัน การประกาศยกเลิกยาต้านจุลชีพเป็นยาสามัญประจำบ้าน การประกาศปรับยาต้านจุลชีพ การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและตอบสนองการระบาดของเชื้อดื้อยาในคน นำร่องในโรงพยาบาล 5 แห่ง นำร่องระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพแบบบูรณาการ ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 117 แห่งทั่วประเทศ มีแผนปรับระบบเพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคที่พบบ่อย การลงนามความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และภาคเอกชนในโครงการการเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
- 28 views