สสส.ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มอบปัญญาบัตรให้ 28 รพ.สต.ที่ถ่ายโอนภารกิจ หลังจบหลักสูตรการจัดการสุขภาพชุมชน 352 คน อปท.เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ประกาศพร้อมเต็มที่พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพสำหรับทุกคนโดยท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มหาวิชชาชัยดอนแก้วสร้างสุข ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาะชุมชน (ศวช.) และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จัดเวทีสานพลังสร้างฐานสุขให้คนไทย โดยมีพิธีมอบปัญญาบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการสุขภาพชุมชน สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากมหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข จำนวน 352 คน
โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวแสดงความยินดีมอบนโยบายการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพสำหรับทุกคนโดยท้องถิ่น และนายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกับนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต รองประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. จำนวนกว่า 30 แห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จำนวนกว่า 500 แห่ง ร่วมสรุปผลการจัดเวที “สานพลังสร้างฐานสุขให้คนไทย”
นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าวว่า บทเรียนการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้ไปอยู่ในสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ภายใต้การกำกับของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กรณีขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว สสส. โดย สำนัก 3 ได้ร่วมกันยกระดับให้องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็น “ศูนย์ฝึกอบรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านสุขภาพ” โดยใช้ชื่อศูนย์ฝึกอบรมว่า “มหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข” ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกับองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้วและ สสส. ถือเป็นการเสริมพลังนโยบายสาธารณะด้านการจัดการสุขภาพชุมชน
นางสาวดวงพร กล่าวต่อว่า สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมดังที่กล่าวมา ได้ถูกพัฒนาโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับมหาวิชชาลัยดอนแก้ว ใช้ชื่อว่า “หลักสูตรการจัดการสุขภาพชุมชน (Management for Healthy Community : MHC) โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ถ่ายโอนรับการฝึกอบรม จำนวน 28 แห่ง รวมทั้งสิ้น 352 คน ซึ่งจากการฝึกอบรมได้เห็นถึงจุดแข็งของการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลถ่ายโอนได้ดึงศักยภาพทุนทางสังคมของชุมชนท้องถิ่นมาเป็นกำลังหลักในการจัดการตนเองด้านสุขภาพครอบคลุมทุกกลุ่มอายุและครอบคลุมทุกภาวะคุกคามต่อสุขภาพ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1) บริการสาธารณะด้านสุขภาพ 2) ชุมชนจัดการสุขภาพ และ3) การบูรณาการของทุกภาคส่วนในการสร้างสุขภาพชุมชน ผ่านรูปธรรมการทำงาน ใน 7 ประเด็นตัวอย่าง ได้แก่ 1) การดูแลเด็กปฐมวัย 2) การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน 3) การดูแลผู้สูงอายุ 4) การดูแลคนพิการ 5) การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 6) การดูแลผู้ป่วยจิตเวช และ 7) การจัดการโรคระบาด
"การแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ และการปฏิรูปแนวทางการจัดการภารกิจการบริการสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจัดเวทีการเรียนรู้แนวคิดหลักการ เทคนิคและวิธีการในการบริหารจัดการพื้นที่ การพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาเครือข่ายและนโยบายสาธารณะด้านการดูแลสุขภาพประชาชน รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินงาน เพื่อสานพลังเครือข่ายให้ขับเคลื่อนการจัดการภารกิจด้านการดูแลสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาวะของประชากรในชุมชน” นางสาวดวงพร กล่าว
- 5 views