สถาบันวัคซีนแห่งชาติชี้ การขยายอายุบริการให้วัคซีนเอชพีวีในเยาวชนหญิงไทยอายุระหว่าง 12-18 ปี มีประโยชน์ ช่วยลดภาระมะเร็งปากมดลูกได้เร็วขึ้น 8 ปี ป้องกันป่วยเพิ่มได้กว่า 22,000 ราย จากเดิมให้เฉพาะนักเรียนหญิง ป.5
นพ.จรุง เมืองชนะ
นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในหญิงไทยรองจากมะเร็งเต้านม เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีไวรัสสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุหลักถึงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยพบว่าในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ประมาณปีละ 6,500 ราย หรือวันละ 542 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกประมาณปีละ 2,000-4,000 รายหรือวันละ 6-12 ราย การฉีดวัคซีนเอชพีวีให้แก่เด็กหญิงไทยควบคู่ไปกับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเมื่ออายุ 30-60 ปี จะทำให้สามารถป้องกันการเกิดโรคได้กว่า 2 ใน 3 นับเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กที่จะเติบโตไปในอนาคตต้องมีความเสี่ยงหรือลดการป่วย การตายจากโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อชีวิตจิตใจ ความเป็นอยู่ของผู้ป่วยและสังคมที่ไม่อาจคาดประมาณเป็นจำนวนเงินได้
คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ได้พิจารณาให้บรรจุวัคซีนเอชพีวีในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย เมื่อปี 2554 และกระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มให้บริการวัคซีนเอชพีวีในโรงเรียนแก่เด็กหญิงไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยไม่คิดมูลค่าตั้งแต่เปิดภาคการศึกษาปี 2560 ซึ่งเด็กหญิง ป.5 ในประเทศไทย เป็นอายุที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากร้อยละ 97 ยังไม่เคยมีเพสศัมพันธ์และยังเป็นวิธีการที่เหมาะสมเพราะการให้บริการฉีดวัคซีนในโรงเรียนส่งผลให้อัตราความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มสูง
แต่อย่างไรก็ตามด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณเด็กหญิงไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จึงเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ได้รับบริการฉีดวัคซีนเอชพีวีฟรี และคาดว่าอีกกว่า 30 ปี จะเริ่มเห็นการลดลงของอุบัติการณ์มะเร็งปากมดลูกอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงยังคงมีเยาวชนไทยจำนวนมากที่อยู่นอกเป้าหมายของบริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ และเป็นผู้ที่ยังมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปากมดลูก
นพ.จรุง กล่าวต่อไปว่า การประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติ(องค์การมหาชน) ได้เสนอ "ทางเลือกการขยายการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกในเยาวชนไทย" (HPV vaccinc catch-up) เพื่อให้คณะอนุกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นต่อการขยายกลุ่มอายุการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก (HPV) ในเยาวชนไทย รวม 4 ทางเลือก ได้แก่
1) รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้กับกระทรวงสาธารณสุขดำเนินโครงการ
2) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน โดยประชาชนร่วมจ่ายวัคซีนราคาถูกกว่าท้องตลาด (Co-payment)
3) หน่วยงานรัฐในแต่ละพื้นที่มีความพร้อมเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ เช่น อปท. และสำนักอนามัย กทม. เป็นต้น
และ 4) ประชาชนจ่ายเงินซื้อวัคซีนเอง
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนไทยที่อยู่นอกเป้าหมายของบริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ ด้วยการลดอุปสรรคด้านราคาวัคซีน จากการจัดบริการวัคซีนโดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐประชาชน และภาคเอกชน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก และลดผลกระทบจากมะเร็งปากมดลูกในประชาชนไทยให้ได้ในระยะเวลาอันสั้น
กลุ่มเป้าหมาย คือ เยาวชนไทยหญิงที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี ซึ่งนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขคาดการณ์ว่าถ้าสามารถเพิ่มการให้บริการวัคซีน เอชพีวีในเด็กนักเรียนประถมปลายจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่อยู่นอกเป้าหมายของบริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย จะสามารถลดภาระมะเร็งปากมดลูก ของประเทศได้รวดเร็วขึ้น 8 ปี คิดเป็นจำนวนผู้ป่วยที่สามารถป้องกันได้เพิ่มขึ้น อีกกว่า 22,000 ราย และช่วยลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคได้อย่างมหาศาล
นพ.จรุง กล่าวว่า ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้อย่างรอบด้าน รวมถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณจัดซื้อจัดหาวัคซีนของภาครัฐแล้ว จึงมีมติให้การสนับสนุนทางเลือกที่ 3 โดยสนับสนุนให้หน่วยงานท้องถิ่นที่มีศักยภาพ พิจารณาจัดหาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมาให้บริการฟรีกับเยาวชนกลุ่มดังกล่าวได้อย่างครอบคลุมและครบถ้วนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งทางเลือกที่ 4 หากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณและหรือด้านอื่นๆ โดยสนับสนุนให้วัคซีนเอชพีวีเป็นวัคซีนทางเลือกสำหรับที่ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินซื้อวัคซีนเองสำหรับเยาวชนกลุ่มดังกล่าวเช่นกัน
- 683 views