“ขอความช่วยเหลือรบกวนแชร์หน่อยนะคะ ขอรับบริจาคเลือด กรุ๊ป.....ด่วนมาก บริจาคได้ที่.....แจ้งความประสงค์บริจาคเลือดให้.....ขณะนี้รอรับการรักษาอยู่ค่ะ”
ข้อความขอรับบริจาคโลหิตที่พบเห็นได้แทบทุกวันในโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็น เฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือ ไลน์กรุ๊ป ที่สื่อให้เห็นว่า แม้จะมีการรับบริจาคเลือดอยู่ตลอด แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการอยู่ดี เพราะการบริจาคเลือด 1 ครั้ง จะสามารถบริจาคครั้งถัดไปได้อีก 3 เดือน ดังนั้นหากไม่มีผู้บริจาคหน้าใหม่มาช่วยเติมเต็ม ความต้องการในส่วนนี้ก็จะยังคงมีอยู่ไปเรื่อยๆ เพราะเลือดที่ได้จากการบริจาค 77% ใช้ทดแทนการเสียโลหิตกะทันหัน เช่น จากการผ่าตัด อุบัติเหตุ คลอดบุตร และอีก 23% ใช้ในการรักษาโรคเลือด เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคฮีโมฟีเลีย หรือโรคเลือดไหลไม่หยุด
หากเพียงแค่หยิบข้อมูลเหตุการณ์ 7 วันอันตรายในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา จากศูนย์ความปลอดภัยทางถนน ตั้งแต่วันที่ 11-17 เมษายน 2561 ที่มีผู้เสียชีวิตสะสม 418 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บสูงถึง 3,897 ราย ก็ทำเอานึกภาพไม่ถูกแล้วว่า 7 วันเหล่านั้นเราได้ใช้โลหิตไปเป็นจำนวนเท่าใด
การไปบริจาคโลหิต 1 ครั้งเท่ากับว่าคุณได้ให้เลือด 350-450 ซีซี ในขณะที่ความต้องการเลือดภายใน 1 วันเท่ากับ 2,000 ยูนิต และการบริจาคโลหิต 1 ครั้ง สามารถนำไปปั่นแยกเพื่อช่วยเหลือได้ถึง 3 อย่าง ทั้ง เม็ดโลหิตแดง (Red Blood Cells) เกล็ดโลหิต (Platelets) และ น้ำเหลือง (Plasma) ดังนั้นก่อนการบริจาคเลือด 1-4 ชั่วโมง ควรงดอาหารที่มีไขมันสูง เนื่องจากเมื่อนำไปปั่นแยกส่วนประกอบโลหิตแล้ว จะทำให้น้ำเหลือง (Plasma) มีลักษณะขุ่นขาว ไม่สามารถนำน้ำเหลืองไปใช้กับผู้ป่วยได้ ต้องแยกทิ้ง ทำให้สูญเสียส่วนประกอบโลหิต และทำให้เสียโอกาสในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความต้องการ
ใครบ้างที่สามารถบริจาคโลหิตได้
- ผู้ที่มีอายุระหว่าง 17 ปี ถึง 70 ปีบริบูรณ์ (ในการบริจาคครั้งแรกต้องมีอายุไม่เกิน 55 ปี และหากอายุยังไม่เกิน 18 ปี ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง)
- ผู้ที่อายุระหว่าง 60-65 ปี สามารถบริจาคได้ทุกๆ 4 เดือน ส่วนผู้ที่อายุระหว่าง 65-70 ปี สามารถบริจาคได้ทุกๆ 6 เดือน และไม่รับบริจาคในหน่วยเคลื่อนที่
- ต้องมีน้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป สุขภาพทั่วไปสมบูรณ์ดี
- นอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ไม่มีอาการอ่อนเพลีย
- ไม่มีประวัติเป็นโรคตับอักเสบ หรือดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
- ไม่เป็นไข้มาเลเรียมาในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ไม่เป็นกามโรค โรคติดเชื้อต่างๆ ไอเรื้อรัง ไอมีโลหิต โลหิตออกง่ายผิดปกติ โรคเลือดชนิดต่างๆ โรคหอบหืด ภูมิแพ้ โรคลมชัก โรคผิวหนังเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์
- ไม่อยู่ระหว่างทานยาแก้อักเสบในระยะ 7 วันที่ผ่านมา
- สำหรับสตรีไม่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์
- หากรับประทานยาแอสไพริน ยากลุ่ม NSAIDs ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนทุกครั้ง เนื่องจากทำให้เลือดแข็งตัวช้า เลือดไหลแล้วหยุดยาก เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ไม่นำเกล็ดเลือดไปใช้กับผู้ป่วย
ต้องงดอะไรบ้างและใช้เวลากี่วันถึงจะบริจาคโลหิตได้
- งดการบริจาคโลหิตภายหลังผ่าตัดใหญ่ คลอดบุตร หรือแท้งบุตร 6 เดือน หากผ่าตัดเล็กควรงด 1 เดือน และหากการผ่าตัดนั้นๆ มีการรับโลหิตมาต้องงดบริจาคโลหิตไป 1 ปี
- ผู้ที่สักหรือเจาะผิวหนัง ให้งดการบริจาคโลหิตไป 12 เดือน
- หากมีอาการท้องเสีย ท้องร่วง งดบริจาคโลหิต 7 วัน
- งดบริจาคโลหิตไป 3 วัน หากถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน หรือ รักษารากฟัน
ก่อนไปบริจาคโลหิต
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- มีสุขภาพสมบูรณ์ดีทุกประการ ไม่เป็นไข้หวัด หรืออยู่ระหว่างรับประทานยาใดๆ
- ดื่มน้ำ 3-4 แก้ว ก่อนบริจาคอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง
- รับประทานอาหารมาก่อนให้เรียบร้อย และเป็นอาหารที่ย่อยง่าย ไม่มีไขมัน
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนมาบริจาคโลหิต อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี
ขณะบริจาคโลหิต
- ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่คับเกินไป สามารถดึงขึ้นเหนือข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว
- เลือกแขนข้างที่เส้นโลหิตดำใหญ่ชัดเจน ผิวหนังบริเวณที่จะให้เจาะ ไม่มีผื่นคัน หรือรอยเขียวช้ำ ถ้าแพ้ยาทาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบล่วงหน้า
- ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมขณะที่กำลังบริจาคโลหิต
- ควรบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โลหิตไหลได้สะดวก หากมีอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม อาการชา อาการเจ็บที่ผิดปกติ ต้องรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันที
หลังบริจาคโลหิต
- นอนพักบนเตียงสักครู่ ห้ามลุกจากเตียงทันที เพราะอาจเวียนศีรษะเป็นลมได้
- ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีบริการให้ และดื่มน้ำมากกว่าปกติเป็นเวลา 1 วัน
- ไม่ควรรีบร้อนกลับ ควรนั่งพักจนแน่ใจว่าเป็นปกติ หากเวียนศีรษะให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
- รับประทานยาธาตุเหล็กที่ได้รับวันละ 1 เม็ด จนหมด เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก
- หลีกเลี่ยงการใช้กำลังแขนข้างที่เจาะเป็นเวลา 12 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการบวมช้ำ
- งดกิจกรรมที่ใช้กำลังและเสียเหงื่อที่ทำให้อ่อนเพลียได้
- ถ้ามีโลหิตซึมออกมาจากรอยผ้าปิดแผล ให้ใช้นิ้วมืออีกด้านหนึ่งกดลงบนผ้าก๊อซ กดให้แน่นและยกแขนสูงไว้ประมาณ 3-5 นาที หากยังไม่หยุดซึมให้กลับมายังสถานที่บริจาคโลหิตเพื่อพบแพทย์หรือพยาบาล
- การรับประทานธาตุเหล็กบำรุงโลหิต พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีวิตามินซีสูง เช่น น้ำส้ม น้ำฝรั่ง หรือน้ำมะเขือเทศ จะทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี ยกเว้นชาเขียว เพราะจะไปขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็ก
พฤติกรรมแบบใดที่ควรงดการไปบริจาคโลหิต
- ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่ไม่ใช่คู่นอนของตน
- ผู้ที่เคยเป็นผู้ที่เสพยาเสพติดโดยใช้เข็มฉีดยา
- ผู้ที่รู้ตัวว่าติดเชื้อเอดส์
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคตับ โรคปอด โรคเลือด โรคมะเร็ง หรือมีภาวะโลหิตออกง่ายและหยุดยาก ไม่สามารถบริจาคได้ถาวร
- ผู้ที่มีอาการไทรอยด์ ชนิดเป็นพิษ แม้จะรักษาหายแล้ว ก็ไม่ควรบริจาคโลหิต
7 อาหารเพิ่มธาตุเหล็ก เพิ่มการบำรุงเลือด
- ก๋วยจั๊บ
- ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าหมู
- แกงจืดเลือดหมู
- ผัดถั่วงอกกับเลือดหมู
- ธัญพืช แป้ง ไข่ ผักสีเขียวเข้ม
- แครอท ฟักทอง มะเขือเทศ
- ตับ เลือด และเนื้อสัตว์ต่างๆ
มีประจำเดือนแล้วบริจาคเลือดได้หรือไม่
- ถ้าขณะนั้นคุณมีสุขภาพแข็งแรง มีประจำเดือนไม่มากกว่าปกติ ร่างกายทั่วไปสบายดี ไม่มีอาการอ่อนเพลียใดๆ ก็สามารถบริจาคโลหิตได้
- สำหรับสตรีที่หมดประจำเดือนแล้ว สามารถบริจาคโลหิตได้ หากสุขภาพร่างกายยังแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ
บริจาคโลหิตแล้วจะทำให้อ้วน?
ไม่จริง เพราะสาเหตุแท้จริงที่ทำให้อ้วน อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การรับประทานอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะแป้งและไขมัน ความบกพร่องของการเผาผลาญพลังงาน ฮอร์โมน พันธุกรรม ขาดการออกกำลังกาย และเมื่อมีอายุมากขึ้นมีโอกาสน้ำหนักเพิ่มได้ง่าย เนื่องจากมีอัตราการเผาผลาญน้อยลง
เช่นนี้แล้ว ผู้ที่ยังไม่เคยบริจาคโลหิตก็ไม่ต้องกลัว เพราะการบริจาคโลหิตยังเป็นการช่วยกระตุ้นให้ไขกระดูกทำงานได้ดี อีกทั้งหากความเข้มข้นของโลหิตเพียงพอ จะทำให้ผิวพรรณสดใส สุขภาพอนามัยสมบูรณ์แข็งแรง และยังสามารถบริจาคได้ทุกๆ 3-6 เดือนอีกด้วย
ดังนั้นอย่าลืมใส่ใจอาหารการกิน เลือกกินอาหารที่ดี มีประโยชน์ช่วยบำรุงร่างกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เพียงเท่านี้ก็สามารถเป็นผู้บริจาคโลหิต รวมถึงยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นผู้ที่ต้องขอรับบริจาคโลหิตด้วยแล้วค่ะ
มาร่วมส่งต่อลมหายใจ และแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้เพื่อนร่วมสังคมกันนะคะ
เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th ข้อมูลจาก : เว็บไซต์ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
- 3240 views