รมต.ประจำสำนักนายกฯ ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดนโยบายรัฐ ได้ข้อสรุปลุยแก้กฎหมาย-ระเบียบ เปิดช่องให้ อปท.จ้างนักบริบาลชุมชนดูแลผู้สูงอายุติดเตียงได้ คาดใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ยกระดับคุณภาพชีวิตคนแก่ทั่วประเทศ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล
ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2561 ซึ่งมีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณา 3 นโยบายสำคัญ โดยหนึ่งในนั้นคือการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (ผู้ป่วยติดเตียง) ภายใต้โครงการท้องถิ่นทั่วไทยผู้สูงอายุมีคนดูแล
นายกอบศักดิ์ เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเตียงประมาณ 2 แสนราย และมีผู้ป่วยติดบ้านที่ในอนาคตจะพัฒนามาเป็นผู้ป่วยติดเตียงอีกกว่า 3 แสนราย และที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือในอนาคตทุกคนจะต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง หากใครโชคดีหรือมีฐานะก็สามารถจ้างคนมาดูแลตัวเองได้ แต่คนจำนวนมากจะต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการเจ็บป่วยโดยที่ไม่มีคนดูแล
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ใส่ใจต่อสถานการณ์ดังกล่าวและมองว่าผู้สูงอายุทุกคนในประเทศไทยควรจะมีคนดูแล จึงได้ร่วมกันหารือถึงการปรับแก้กฎระเบียบต่างๆ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมในการสร้างนักบริบาลทั่วประเทศไทยเข้าไปดูแลประชาชนตามชุมชนต่างๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถทำเรื่องนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีระเบียบรองรับ
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวลงทุนไม่มาก เฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีสวัสดิการ และนำไปสู่การเกิดการจ้างงานในชุมชน ส่งผลให้แต่ละครอบครัวคลายกังวลและมีประสิทธิภาพในการทำงานได้ดีขึ้น โดยรวมจะนำมาสู่ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ยืนยันว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้หารือถึงแผนการดำเนินการเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว คาดว่าในวันที่ 5 ก.ค.นี้ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะนำนโยบายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณา หลังจากนั้นจะมีการดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า ส่วนงบประมาณคาดว่าในปีแรกจะใช้ 2,000 ล้านบาท โดยในระยะยาวจะผ่องถ่ายจาก สปสช.ให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลหลักต่อไป
นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการดูแลผู้สูงอายุในช่วงต้นของโครงการ โดยให้หาแนวทางการจัดบริการเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดบ้านและติดเตียงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“เราได้ดำเนินโครงการไปบางส่วนแล้ว ในวันนี้ที่รัฐบาลพิจารณาคือการนำโครงการที่ สปสช.ได้ทำร่วมกับ อปท.มาดูว่าการดำเนินงานมีข้อติดขัดอะไรบ้าง ซึ่งในวันนี้ข้อติดขัดเหล่านั้นก็ได้ทางออกแล้ว” นพ.ประจักษวิช กล่าว
นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ จ.ลพบุรี กล่าวว่า ที่ อ.ลำสนธิ ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว มีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ประกอบกับความเป็นชนบท ความยากจน ขณะที่คนหนุ่มสาวเข้ามาใช้ชีวิตในเมือง ส่งผลให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะอาศัยและดูแลผู้สูงอายุด้วยกันเอง
นพ.สันติ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือผู้สูงอายุดูแลกันเองไม่ไหว บางรายไม่ได้อาบน้ำหลายวัน บางรายรับประทานอาหารไม่ไหว สภาพดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นทุกข์ที่เกินทุกข์ นั่นจึงนำมาสู่กระบวนการช่วยเหลือเยียวยา โดยทางโรงพยาบาลลำสนธิได้ส่งพยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด เข้าไปดูแลถึงบ้าน ซึ่งภาพรวมของกระบวนการดูแลเป็นไปอย่างดี
อย่างไรก็ตาม อีกกระบวนหนึ่งที่ดีมากๆ คือทางท้องถิ่นได้ช่วยจัดจ้างนักบริบาลชุมชนเพื่อเข้าไปช่วยดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ด้วย แต่ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีกลไกการตรวจสอบเข้ามาแล้วระบุว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่มีระเบียบหรือข้อกำหนดรองรับ นั่นทำให้โรงพยาบาลลำสนธิทำงานยากลำบากขึ้น ซึ่งการประชุมในวันนี้เป็นนิมิตรหมายทีดีที่จะช่วยปลดล็อกเงื่อนไขเหล่านั้นออกไป
นพ.สันติ กล่าวอีกว่า ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ต้องอาบน้ำทุกวัน ต้องรับประทานอาหารสามมื้อ การลงไปดูแลจึงเป็นงานที่หนัก เราจึงเกิดกระบวนการนักบริบาลชุมชนขึ้นมา เพื่อเข้าไปอาบน้ำ สระผม ป้อนข้าว คือทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นอย่างดี ผลก็คือทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น
“ต้องขอบคุณรัฐบาลที่หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นนโยบายเร่งด่วน และจะปลดล็อกกฎหมายต่างๆ ผมคิดว่าถ้าปลดล็อกแล้วไม่เพียงแต่โรงพยาบาลลำสนธิจะดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่างเข้มข้นต่อไป แต่โรงพยาบาลอื่นๆ จะสามารถดำเนินการได้ด้วย”นพ.สันติ กล่าว
น.ส.จำเริญ ต่อโชติ นักบริบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กุดตาเพชร จ.ลพบุรี กล่าวว่า ปัญหาของผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงจะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่ไม่มีคนดูแล คืออยู่กับบุตรหลานที่ทำงานนอกบ้าน ในสมัยที่ยังไม่มีนักบริบาลเข้าไปดูแลพบว่าคุณภาพชีวิตแย่มาก จานข้าวที่บุตรหลานเตรียมไว้ก่อนออกไปทำงานก็เต็มไปด้วยมด ผู้สูงอายุนอนแช่อุจจาระตั้งแต่เช้าถึงเย็น
“ภาพแบบนี้ชุมชนเมืองอาจจะไม่เจอ แต่ในต่างจังหวัดหรือชุมชนชนบทจะพบมาก ผู้สูงอายุเหล่านั้นต้องการความช่วยเหลือจากเรามากๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม แพมเพิด การดูแลต่างๆ นาๆ เราดูแลทั้งผู้ป่วยและญาติที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยด้วย” น.ส.จำเริญ กล่าว
น.ส.จำเริญ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวอยากให้มีนักบริบาลไปดูแลผู้ป่วยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยทุกวันนี้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้ค่าจ้างเดือนละ 6,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีคนมาจ้างนักบริบาลไปดูแลผู้ป่วยเป็นการเฉพาะ โดยเสนอเงินเดือนให้ 20,000 บาท แต่นักบริบาลก็ไม่ไป ส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่กับชุมชน ยืนยันว่าทุกอย่างที่ทำไปนั้นทุกคนทำด้วยใจ เพราะเรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวผู้ป่วยติดเตียง
สำหรับสถานการณ์ที่รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ระบุว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยได้พัฒนานักบริบาลชุมชน (Care Giver) จำนวนกว่า 5 หมื่นคน ในปี 2561 โดยมีเป้าหมาย 1 นักบริบาลต่อ 5-10 ผู้สูงอายุเป้าหมาย รวมทั้งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับนักบริบาลอีกเดือนละ 6,000 บาท
ในส่วนของปัญหาของผู้ป่วยติดเตียงในปัจจุบันคือยังไม่มีกฎระเบียบหรือประกาศที่กำหนดให้การดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงให้เป็นภารกิจของท้องถิ่น อย่างไรก็ตามศูนย์ผู้สูงอายุของท้องถิ่นหลายแห่งมีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีแนวทางการดำเนินงาน และการบริหารจัดการต่างๆ ที่ชัดเจน เช่น การจ่ายค้าตอบแทนหรือค่าจ้างนักบริบาล
นอกจากนี้ ปัจจุบันงบประมาณที่ สปสช.ได้รับ เป็นค่าบริการสาธารณสุขโดยจ่ายให้หน่วยบริการซึ่งให้รวมค่าใช้จ่ายทั้งวัสดุอุปกรณ์และบุคลากรไปด้วย จึงไม่เพียงพอในการจ่ายค่าตอบแทนให้กับนักบริบาล และการจ่ายค่าตอบแทนหรือค่าจ้างนั้น ในปัจจุบันยังเป็นการจ่ายในลักษณะอาสาสมัครทำให้ไม่จูงใจต่อการทำงาน
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับการจากการดำเนินโครงการ ได้แก่ 1.ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง จะได้รับการดูแลไม่น้อยกว่า2 แสนคนต่อปี ทำให้เกิดการจ้างงานนักบริบาลประมาณ 2.6 หมื่นคน ซึ่งจะเป็นประชากรในท้องถิ่น และท้องถิ่นราว 5,200 แห่ง จะมีระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบเพื่อให้ครอบคลุมการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะผู้ดูแล อปท. เป็นหน่วยงานหลัก มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในท้องถิ่น
ตั้งแต่การจัดทำทะเบียนและข้อมูลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ที่รับผิดชอบ แจ้งรายชื่อให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการขอตั้งงบประมาณ ดำเนินการดูแล ป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพ จัดสวัสดิการที่จำเป็น จัดกิจกรรมและการจ้างงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และให้มีระเบียบ มท.ที่กำหนดให้ อปท.สามารถตั้งงบประมาณเพื่อสมทบกองทุนได้
- 934 views