“นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า” เสนอไอเดียจัดระบบคิวแก้ปัญหาโรงพยาบาลแออัด เชื่อเทคโนโลยีบัตรคิว-แอปพลิเคชันช่วยได้เฉพาะผู้ป่วยไม่ซับซ้อนเท่านั้น ระบุ ต้องแบ่งกลุ่มผู้ป่วยให้ชัด นัดคนไข้ล่วงหน้า เปิดคลินิกคัดกรอง-รักษาเบื้องต้น และพัฒนาระบบการส่งต่อ
รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวถึงข้อเสนอเรื่องการจัดระบบคิวในโรงพยาบาลเพื่อแก้ปัญหาโรงพยาบาลแออัด ตอนหนึ่งว่า การจัดระบบคิวของโรงพยาบาลค่อนข้างเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เนื่องจากโรงพยาบาลมีหลายห้องตรวจ คนไข้แต่ละรายก็มาด้วยอาการป่วยที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อระยะเวลาในการตรวจที่แตกต่างกันด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เรื่องคิวเป็นเรื่องที่แต่ละโรงพยาบาลมีแนวทางในการบริหารจัดการอยู่แล้ว ซึ่งการนำเทคโนโลยีหรือแอปพลิเคชันต่างๆ เข้ามาช่วยในระบบการจองคิวนั้น เป็นวิธีที่ช่วยลดปริมาณคนไข้ได้ส่วนหนึ่งโดยวิธีนี้กับเหมาะกับกลุ่ม คนไข้เก่า หรือกลุ่มคนไข้ทั่วไป ที่ไม่เฉพาะเจาะจงแพทย์เฉพาะทาง ไม่ต้องรอผลตรวจ เป็นวิธีที่ช่วยอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น แต่ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด เนื่องจากการบริการของโรงพยาบาลมีความซับซ้อนมากกว่าการให้บริการของเอกชนในด้านอื่นๆ
รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาการบริหารจัดการกลุ่มผู้ป่วยนอก (OPD) ในปัจจุบันมีด้วยกันหลายประการ เริ่มตั้งแต่ 1.ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเรื่องการนัดเหลื่อมเวลา ส่วนใหญ่เข้าใจว่ามาเช้าจะได้คิวตรวจเร็ว ตรงนี้ทำให้เกิดความสับสนมากขึ้น 2.จำนวนผู้ป่วยมีมากกว่าศักยภาพการให้บริการของแพทย์ เช่น 1 ชั่วโมง มีจำนวนคนไข้ที่รอตรวจจำนวน 100 คน จึงเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากแม้ว่าจะมีระบบบัตรคิวเข้ามาช่วยก็ตาม
“การกดบัตรคิวจะสามารถบอกได้ว่าต้องรอคิวอีกกี่คน กี่นาที แต่บอกเรื่องการให้บริการทางการแพทย์ไม่ได้ เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีอาการที่ต้องตรวจรักษาที่แตกต่างกัน รวมถึงระยะเวลาในการตรวจก็สั้นยาวแตกต่างกันด้วยเช่นกัน” รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องคิวได้ต้องใช้หลายวิธีควบคู่กัน คือการแบ่งกลุ่มคนไข้ เช่น คนไข้รายใหม่ คนไข้รายเก่า คนไข้เก่าที่มาตามนัด กลุ่มที่ไม่ต้องรอผลตรวจ กับคนไข้เก่าที่ต้องรอผลตรวจจำนวนกี่ชั่วโมง ซึ่งการแบ่งกลุ่มคนไข้ให้ชัดเจน ก็จะช่วยในเรื่องของการจัดคิวได้ ขณะที่ทางโรพยาบาลต้องทำความเข้าใจให้ความรู้กับคนไข้ด้วยว่าเรามีการแบ่งกลุ่มคนไข้ออกเป็นกี่กลุ่ม มีระบบการนัดเวลาล่วงหน้า เพื่อลดปัญหาเรื่องทัศนคติการแซงคิวของคนไข้ และลดปัญหาการร้องเรียนและความแออัดได้
รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาว่า 1.กรณีคนไข้เก่าที่มีอาการคงที่ดีแล้ว ต้องส่งกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณคนไข้เก่าและเปิดโอกาสให้คนไข้ใหม่ได้เข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้น 2.หากคนไข้เข้าใจระบบและขั้นตอนการรักษาที่ชัดเจน เช่น บางโรงพยาบาลมีระบบการตรวจที่คลินิกนอกเวลาเพื่อทำการรักษาอาการทั่วไป ก่อนส่งต่อให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่วินิจฉัยโรคและให้แนวทางการรักษา และส่งกลับมารักษาต่อที่คลินิกนอกเวลา 3.จัดทำระบบเตรียมความพร้อมคนไข้ ก่อนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็จะช่วยลดปัญหาความแออัดลงได้
อนึ่ง รศ.นพ.สมศักดิ์ เคยโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Somsak Tiamkao” นำเสนอแนวทางการจัดระบบคิวในโรงพยาบาล ประกอบด้วย 1.จัดกลุ่มผู้ป่วยที่มารับบริการที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น ผู้ป่วยรายใหม่ที่มาเอง ผู้ป่วยรายใหม่ที่มีการส่งต่อ ผู้ป่วยเก่านัดติดตามการรักษาที่มีการตรวจเพิ่มเติม ผู้ป่วยเก่านัดติดตามการรักษาที่ไม่มีการตรวจเพิ่มเติม กลุ่มญาติมารับยาแทน กลุ่มผู้ป่วยอาการคงที่มารับยา กลุ่มผู้ป่วยคลินิกเฉพาะโรค ผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน และอื่น ๆ เพื่อจัดระบบการให้ให้บริการที่เป็นระบบ
2.จัดระบบการนัดหมายเป็นช่วงเวลา เช่น 9.00 - 9.30 น. เป็นช่วงเวลาละ 30 นาที เพื่อให้ผู้ป่วยทราบช่วงเวลาโดยประมาณที่จะเข้ารับบริการ ไม่ใช่รอรับบริการตั้งแต่เวลา 9.00 – 12.00 น.
3.ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การนัดหมายเข้ารับบริการล่วงหน้าผ่าน application, website หรือการนัดหมายล่วงหน้าตั้งแต่เข้ารับบริการครั้งก่อน
4.พัฒนาระบบ call center เพื่อให้เป็นศูนย์ประสานงาน สอบถามข้อมูลการให้บริการได้
5.ปรับเปลี่ยนทัศนคติทีมผู้ให้บริการ และผู้รับบริการให้มีความเข้าใจ และเห็นใจซึ่งกันและกัน
6.เน้นการส่งเสริม ดูแลสุขภาพ การตรวจรักษาในโรงพยาบาลใกล้บ้าน ลดการเจ็บป่วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 1570 views