รู้หรือไม่ว่าในแต่ละปีมีเด็กทารกถูกส่งตัวเข้ามารับการรักษาจากอาการทางสมองโดนเขย่ากระทบกระเทือนถึงสมองถึง 10-15 คนต่อปี หมอต้องทำการผ่าตัดเปิดกระโหลก ก็อาจทำให้ทารกได้รับบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิตได้ Shaken baby syndrome หรือกลุ่มอาการทารกถูกเขย่า มีเด็กทารกตายจากสาเหตุดังกล่าวถึง 1 ใน 3 และอีกร้อยละ 30-40 ที่ไม่สามารถรักษาหายเป็นปกติ
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะ Shaken Baby Syndrome สาเหตุการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นกับเด็กทารกไว้ว่า “การเขย่าเด็กแรงๆ“ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มีความเสี่ยงที่จะทำให้เด็ก โดยเฉพาะทารกวัย 3-8 เดือน ได้รับบาดเจ็บทางสมองจนถึงขั้นเสียชีวิต หรือทำให้เด็กพิการตลอดชีวิต เช่น ปัญหาทางสายตา ลมชัก การเรียนรู้ และสติปัญญา เนื่องจากกล้ามเนื้อคอของทารกยังไม่แข็งแรง เมื่อคอและศีรษะถูกเหวี่ยงไปมาโดยการเขย่า จะทำให้เส้นเลือดบริเวณเยื่อหุ้มสมองฉีกขาด เกิดเลือดออกในสมอง การเคลื่อนไหวและกระตุกอย่างรวดเร็ว ทำให้เนื้อสมองได้รับอันตราย และอาจลุกลามไปจนถึงทำให้เส้นเลือดในจอตาขาดได้อีกด้วย
แม้อาการบาดเจ็บภายในส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีสัญญาณภายนอกให้พ่อแม่เห็น แต่มีข้อแนะนำให้สังเกตหลังจากลูกถูกเขย่าอาทิ อาเจียน หายใจติดขัด ดูดกลืนน้ำลายไม่ได้ หน้าผากบวม มีเนื้อปูดออกมาที่ศรีษะ ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ โดยต้องแจ้งด้วยว่าเด็กได้รับการเขย่าตัวอย่างรุนแรง เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาทันท่วงที
ทั้งนี้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) กรมการแพทย์ มีเด็กที่เข้ารับการรักษาจากอาการทางสมองโดนเขย่ากระทบกระเทือนถึงสมองถึง 10-15 คนต่อปี
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ กุมารแพทย์ระบบประสาท สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า สาเหตุมักเกิดจากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อทารกร้องไห้ไม่หยุด โดยเฉพาะทารก 3 เดือนแรกของชีวิต ที่มักร้องไห้ตลอดเวลา ไม่เว้นกลางวันกลางคืน ความเหนื่อยล้าจากการอดนอน ผนวกกับความเครียดที่เกิดจากเสียงร้องไห้ อาจทำให้พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเผลอเขย่าตัวเด็กแรงๆ หวังจะให้หยุดร้อง โดยที่หารู้ไม่ว่าการเขย่าตัวนั้นอาจทำให้เด็กมีอันตรายถึงชีวิตได้ ไม่เพียงแต่การเขย่าเพื่อให้ลูกหยุดร้องเท่านั้น บางครั้งการเล่นกับเด็กอย่างรุนแรงเกินไป เช่น จับลูกวัยยังไม่ถึงขวบปี โยนขึ้นไปกลางอากาศแล้วรับ ถึงแม้เด็กอาจหัวเราะชอบใจ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้สมองได้รับความบาดเจ็บได้เช่นกัน
นพ.ธนินทร์ กล่าวว่า หากลูกร้องไห้ไม่หยุดไม่รู้จะทำอย่างไร และคุณเองเริ่มรู้สึกเครียดหรือโมโห ควรขอความช่วยเหลือจากคนอื่นในครอบครัวให้ช่วยดูแลลูกแทนสักพัก หากไม่มีใครช่วยจริงๆ อาจวางลูกในที่ที่ปลอดภัย ที่ลูกจะไม่พลัดตกลงมา แล้วแวบออกนอกห้องไปสูดหายใจลึกๆ สัก 2-3 นาที แล้วค่อยกลับมาเริ่มใหม่ พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก ต้องเข้าใจว่าการร้องไห้เป็นธรรมชาติของทารก เป็นการสื่อสาร ที่แม้คุณจะไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร หากแน่ใจว่าลูกกินอิ่ม จับเรอแล้ว ผ้าอ้อมไม่แฉะ ไม่มีเส้นผมเส้นด้ายพันนิ้วมือนิ้วเท้า ไม่มีมดแมลงไต่ตามตัว วางใจได้ว่าสักพักลูกจะหยุดร้องได้เอง ระหว่างนั้น สูดลมหายใจลึกๆ เตือนตัวเองเสมอว่าหากเขย่าตัวลูกรุนแรง ลูกอาจพิการหรือเสียชีวิตได้ ซึ่งไม่คุ้มกันอย่างแน่นอน
- 1275 views