รมว.สาธารณสุขกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 71 เน้น “มุ่งมั่นสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อทุกคนมีสุขภาพดี”

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 71 ณ สหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ในหัวข้อ “มุ่งมั่นสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อทุกคนมีสุขภาพดี” (Health for All : Commit to Universal Health Coverage) ว่า เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ปฏิญญาอัลมา อตา (Declaration of Alma Ata) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อประชาชนมี “สุขภาพดีถ้วนหน้า” ภายในปี พ.ศ.2543” ประเทศไทยได้ดำเนินการตามปฏิญญานี้ โดยสร้างและพัฒนาระบบสุขภาพที่มีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวได้ตามสภาวะสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ทศวรรษ

ความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยพิสูจน์ให้นานาชาติเห็นว่า ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวประชากรในระดับปานกลางสามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนได้สำเร็จตั้งแต่ พ.ศ. 2545 โดยประสบความสำเร็จทั้ง 3 มิติของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือ

1.ขจัดความยากจนทางการแพทย์ตามเป้าหมายที่ 1

2.การพัฒนาการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ตามเป้าหมายที่ 3

และ 3.การขยายเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ และอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ตามเป้าหมายที่ 8, 9 และ 10

ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยนี้ได้มีการอนุมัติแผนงานและโครงการขององค์การอนามัยโลก ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2562 – 2566) ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้าของประชากรโลกอีกกว่า 1 พันล้าน ประเทศไทยจึงมีแผนที่จะสนับสนุนงบประมาณแก่องค์การอนามัยโลกสำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 100,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3.2 ล้านบาท)

การประชุมว่าด้วยเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2561ณ เมืองเบลลาจีโอ สาธารณรัฐอิตาลี ได้แนะนำมาตรการ 4 ด้านที่จำเป็นในการขยายการเข้าถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้าของทั่วโลก คือ

1.มีพันธสัญญาทางการเมืองอย่างยั่งยืน เช่น กำหนดให้วันที่ 12 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลรวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการดำเนินการตามพันธสัญญาให้มีความยั่งยืน เช่น การประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2562 และการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในปี 2563

2.ส่งเสริมภาคประชาชนขับเคลื่อนงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทุกระดับ

3.สร้างระบบสุขภาพที่มีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวได้ตามสาธารณสุขมูลฐาน โดยมีหัวใจสำคัญคือกำลังคนด้านสุขภาพที่ควรได้รับการกระตุ้นและเสริมสร้างความเข็มแข็ง

และ 4.สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกัน

ทั้งนี้ นพ.ปิยะสกล ได้เน้นย้ำว่า เป้าหมายของสุขภาพดีถ้วนหน้าคือ ความเสมอภาคทางสุขภาพและการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทุกมิติ พร้อมทั้งการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการจัดการปัญหาและความท้าทายทางสุขภาพ