พ่อผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย เผยลูกชายใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมากว่า 10 ปี เข้าถึงการรักษาต่อเนื่อง ลดภาระค่าใช้จ่าย เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี สิทธิประโยชน์สำรองยาแฟคเตอร์ ช่วยลดความพิการในผู้ป่วยฮีโมฟีเลียจากภาวะเลือดออกในข้อและใต้ผิวหนังได้ ระบุช่วงอายุ 8 ขวบ เคยผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ ภาวะเลือดไม่หยุดไหลส่งผลค่าผ่าตัดรักษาพุ่ง 5 แสนบาท จากปกติแค่หลักหมื่น ย้ำหากไม่มีสิทธิบัตรทองครอบครัวกระทบแน่
นายพิเศษ รักเดช
นายพิเศษ รักเดช อายุ 47 ปี ชาวนนทบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันลูกชายอายุ 16 ปี เป็นผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) ในการรักษามาตั้งแต่ปี 2549 โดยในช่วงที่ลูกชายเกิด ตนเองและครอบครัวไม่รู้ว่าลูกป่วยด้วยโรคนี้ อาการเริ่มปรากฎในช่วงอายุ 6 เดือนที่เด็กเริ่มพลิกคว่ำ พบพบจ้ำเขียวช้ำตามแขนขาและร่างกาย แต่เนื่องจากลูกชายเป็นเด็กอ้วนและมีน้ำหนักมาก ทำให้คิดว่าคงอาการปกติทั่วไปจึงไม่ได้ไปหาหมอ แต่เมื่ออายุ 2 ขวบ เกิดอุบัติเหตุหกล้มฟันกระแทกจนเกิดแผลในปาก มีเลือดออกไม่หยุด จึงพาไปหาหมอที่โรงพยาบาลเพื่อให้หยุดเลือดที่ไหลนี้ และต่อมาคุณหมอที่โรงพยาบาลจึงได้ส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช จากการวินิจฉัยได้รับแจ้งว่าลูกชายป่วยเป็นโรคฮีโมฟีเลีย จากนั้นจึงได้รักษาต่อเนื่องที่ รพ.ศิริราชมาตลอด เพราะนอกจากต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดูแลแล้ว ยังต้องใช้ยาแฟคเตอร์ที่เป็นสารประกอบของเลือดในการรักษาที่ รพ.ทั่วไปไม่มีสำรอง
ในการรักษาและดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เฉพาะยาแฟคเตอร์ที่ผู้ป่วยต้องใช้เพื่อหยุดการไหลของเลือด ราคาที่บริษัทยาจำหน่ายอยู่ที่ 5,000-6,000 บาทต่อขวด ปริมาณการใช้แต่ละครั้งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอุบัติเหตุที่ได้รับ หากเป็นบาดแผลรุนแรงอาจะต้องใช้ 2-3 ขวด ทั้งยังต้องใช้ยานี้รักษาต่อเนื่องไปอีก ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ในกรณีที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หากนาน 1 สัปดาห์ เฉพาะค่าห้องผู้ป่วยก็อยู่ที่ 6,000-7,000 บาทแล้ว เป็นต้น
นอกจากนี้ผู้ป่วยฮีโมฟีเลียยังต้องมียาแฟคเตอร์เพื่อสำรองไว้ที่บ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถหยุดภาวะเลือดไหลหรือชะลอการไหลของเลือดได้ก่อน เพราะกรณีที่เกิดอุบัติเหตุกระทันหัน เช่น รถเฉี่ยว รถชน และหกล้มจนมีแผลทำให้เลือดออก เป็นต้น และเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ไม่คุ้นเคยกับโรคฮีโมฟีเลีย ประกอบกับกระบวนการคัดกรองผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ล่าช้า จำเป็นต้องมียาแฟคเตอร์สำรองไว้ที่ผู้ป่วยเพื่อช่วยบรรเทาหรือชะลอความรุนแรงของอาการก่อน ในประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่สามารถให้การรักษาโรคฮีโมฟีเลียได้เพียง 49 แห่งเท่านั้น ซึ่งระบบบัตรทองได้เพิ่มสิทธิประโยชน์สำรองยาแฟคเตอร์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยฮีโมฟีเลียในปี 2557
“ปัจจุบันลูกชายยังคงรับการรักษาต่อเนื่องที่ รพ.ศิริราช โดยใช้สิทธิบัตรทอง คุณหมอจะนัดตรวจติดตามอาการ 3 ถึง 4 เดือนครั้ง หากไม่มีระบบบัตรทองนี้ แน่นอนคงกระทบกับครอบครัวเราอย่างมาก โดยในช่วงที่ลูกชายอายุ 8 ขวบ เกิดอาการปวดท้องอย่างหนัก พบว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบและต้องผ่าตัด ซึ่งค่าใช้จ่ายผ่าตัดไส้ติ่งกรณีคนทั่วไปจะอยู่เพียงแค่หลักหมื่นบาท แต่กรณีของผู้ป่วยฮีโมฟีเลียที่มีภาวะเลือดไหลไม่หยุดอย่างลูกชายผม ต้องเลียค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดไส้ติ่งสูงถึง 5 แสนบาท เป็นภาระค่ารักษาที่หนักมาก โชคดีที่มีระบบบัตรทองช่วยดูแล” นายพิเศษ กล่าว
นายพิเศษ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยมีระบบบัตรทองทำให้รู้สึกเบาใจและสบายใจอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้าถึงการรักษาของลูกชาย เชื่อว่าผู้ป่วยโรคเรื้อรังและโรคค่าใช้จ่ายสูงต่างรู้สึกเช่นกัน มองว่าเป็นระบบที่จำเป็นอย่างมากในการช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้ หากไม่มีระบบนี้ครอบครัวเราคงแย่ และจากที่ระบบบัตรทองได้เพิ่มสิทธิประโยชน์การเข้ายาแฟคเตอร์ในผู้ป่วยฮีโมฟีเลียยังช่วยลดความพิการจากภาวะเลือดออกในข้อและใต้ผิวหนังได้ จากเดิมที่ผู้ป่วยโรคนี้พบความพิการถึงร้อยละ 90 แต่ด้วยระบบการสำรองยาแฟคเตอร์ให้กับผู้ป่วยฮีโมพีเลีย ทำให้ความพิการในผู้ป่วยกลุ่มนี้ลดน้อยลงอย่างมาก จนผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ระยะหลังๆ แทบไม่ปรากฎความพิการ
“ปัจจุบันผมลูกชายสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ไปโรงเรียนได้ เล่นได้ เพียงแต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นเป็นพิเศษ ยอมรับว่าส่วนตัวยังรู้สึกกังวลทุกครั้งมีข่าวเกี่ยวกับการยกเลิกหรือมีการปรับเปลี่ยนระบบบัตรทองนี้ ครอบครัวคงได้รับผลกระทบอย่างมาก ดังนั้นอยากฝากถึงรัฐบาลขอให้ระบบบัตรทองมีอยู่ตลอดไปเพื่อดูแลประชาชน ไม่อยากให้ล้มหรือยกเลิกไป” พ่อผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย กล่าว
- 188 views