11 สภาวิชาชีพ ยื่นหนังสือนายกฯ ค้านร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา เหตุตัดบทบาทสภาวิชาชีพรับรองหลักสูตรการศึกษา เปิดทางมหาวิทยาลัยทำหลักสูตรสอนเสรี หวั่นทำบัณฑิตเรียนจบไร้คุณภาพ สอบใบประกอบวิชาชีพไม่ผ่าน สร้างกระทบต่อประชาชน

รศ.ดร.นพ.ทพ.ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญ อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่ 1 เปิดเผยว่า ในวันนี้ตัวแทนสมาพันธ์สภาวิชาชีพ ได้แก่ แพทยสภา สภาการพยาบาล ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาสถาปนิก สภาวิชาชีพการบัญชี และสภาวิศวกร รวม 11 สภาวิชาชีพ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงข้อมูลผลกระทบร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. .... ซึ่งจะส่งผลต่อวิชาชีพและประชาชน เนื่องจากมีเนื้อหาที่ระบุห้ามมิให้สภาวิชาชีพยุ่งเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษา โดยเป็นการร่างตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ทั้งนี้ตามข้อเท็จจริงปัจจุบัน สภาวิชาชีพเป็นองค์กรทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพ รวมถึงจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพ โดยดูแลตั้งแต่การจัดทำหลักสูตรของสถาบันการศึกษาต่างๆ ให้ดำเนินไปอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้นักศึกษาที่เข้าเรียนและจบมามีคุณภาพและได้มาตรฐานของแต่ละวิชาชีพ และสามารถสอบผ่านใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ แต่จากร่างกฎหมายจะทำให้สภาวิชาชีพไม่มีหน้าที่เข้าไปดูแลการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนอีกต่อไป ทำให้สถาบันการศึกษาสามารถจัดทำหลักสูตรและเปิดสอนได้โดยไม่ต้องมีเกณฑ์ควบคุมกำหนดที่อาจส่งผลกระทบตามมาในภายหลังได้

“เมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฉบับนี้ ผลกระทบจะเกิดกับนักศึกษาโดยตรง เพราะหากมหาวิทยาลัยจะทำหลักสูตรการสอนที่ไม่ได้มาตรฐานเพียงพอ อาจทำให้บัณฑิตที่จบมาไม่สามารถสอบผ่านใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ ทำให้ไม่สามารถประกอบวิชาชีพได้อย่างถูกกฎหมาย หากลักลอบทำ ในกรณีที่เป็นแพทย์ก็เรียกว่าหมอเถื่อน แม้ว่าจะเรียนมาถึง 6 ปีก็ตาม ขณะที่ประชาชนเองก็ได้รับความเสี่ยง ไม่ปลอดภัยในการเข้ารับบริการ อาจส่งผลต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงได้” อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่ 1 กล่าวและว่า ในขณะที่ผลกระทบต่อสภาวิชาชีพ เนื่องจากบางสภาวิชาชีพได้ร่วมเป็นสมาชิกสมาพันธ์วิชาชีพระดับโลก เช่น สภาวิชาชีพการบัญชี ที่มีหลักเกณฑ์กำหนดว่า สภาวิชาชีพต้องทำหน้าที่ดูแลหลักสูตรการสอนด้วย และเมื่อมีกฎหมายนี้อาจทำให้ต้องหลุดจากการเป็นสมาชิกสมาพันธ์ระดับโลกไป

รศ.ดร.นพ.ทพ.ศิริชัย กล่าวว่า ในการร่างกฎหมายนี้ ไม่รู้ว่าคนร่างกฎหมายคิดอย่างไร ซึ่งอาจมีข้อมูลไม่รอบด้านเพียงพอ หรือคนร่างกฎหมายอาจมาจากในส่วนของสถาบันการศึกษาที่รู้สึกอึดอัดจากการถูกควบคุมมาตรฐานในการจัดทำหลักสูตรการสอน หลักสูตรการฝึกปฏิบัติ ซึ่งต้องเป็นไปตามกรอบ เช่น กระบวนการสอนตามรายวิชา อัตรานักศึกษาต่อครูผู้สอน ห้องปฏิบัติการ และวัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น หากไม่มีเกณฑ์นี้จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพบัณฑิตที่จบมา ซึ่งที่ผ่านมามีสถาบันการศึกษาที่มาขอรับรองหลักสูตรจากสภาวิชาชีพหลายแห่งที่ไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณา หากมีกฎหมายนี้ออกมาสถาบันการศึกษาเหล่านี้ก็จะสามารถเปิดสอนได้

“เหล่าสภาวิชาชีพต่างห่วงผลกระทบที่จะตามมาจากร่างกฎหมายฉบับนี้ สมาพันธ์วิชาชีพจึงได้ร่วมชี้แจงและให้ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การปรับแก้ไขร่างกฎหมาย ซึ่งขณะนี้อยู่ขั้นตอนการทำประชาวิจารณ์และรับฟังความเห็น พร้อมกันนี้ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รับทราบข้อมูลและให้มีการทบทวน เพื่อให้การออกกฎหมายมีความรอบคอบยิ่งขึ้น และไม่สร้างความเสียหายที่ร้ายแรงในภายหลัง” อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่ 1 กล่าว