Pauline Anderson จากเว็บไซต์ medscape.com เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 ถึงสถิติการฆ่าตัวตายของแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาว่า สถิติการจบชีวิตตัวเองเฉลี่ยวันละ 1 รายส่งผลให้แพทย์เป็นสาขาวิชาชีพที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในสหรัฐอเมริกา และอัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มแพทย์ยังสูงกว่ากลุ่มประชากรทั่วไปถึงกว่า 2 เท่า
การศึกษาทบทวนปัญหาฆ่าตัวตายในหมู่แพทย์สหรัฐอเมริกา จากรายงานในที่ประชุม American Psychiatric Association (APA) ประจำปี 2561 เผยอัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มแพทย์ที่สูงถึง 28-40 รายต่อแพทย์ 100,000 คน และสูงกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับอัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มประชากรทั่วไป
พญ.ดีปิกา ทันวาร์ หัวหน้าคณะผู้ศึกษาวิจัยจากโรงพยาบาล Harlem Hospital Center ที่นครนิวยอร์คของสหรัฐชี้ว่าแพทย์ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมักมีภาวะซึมเศร้าหรืออาการทางจิตอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาได้ไม่ดีพอ
“แปลกมากค่ะที่อัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มแพทย์สูงกว่าทหารซึ่งทราบกันดีว่าเป็นอาชีพที่ต้องแบกรับความกดดันสูงมาก” พญ.ทันวาร์กล่าว
ความอับอายและการเข้าถึงหนทางตาย
คณะผู้ศึกษาวิจัยดำเนินการศึกษาทบทวนข้อมูลการฆ่าตัวตายในกลุ่มแพทย์ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์หลายฉบับตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ผลการศึกษาชี้ว่าอัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มแพทย์อยู่ระหว่าง 28-40 รายต่อแพทย์ 100,000 คนเทียบกับสถิติ 12.3 รายต่อ 100,000 รายในกลุ่มประชากรทั่วไป
และยังชี้ว่าแม้อัตราการพยายามฆ่าตัวตายในกลุ่มแพทย์หญิงต่ำกว่าผู้หญิงทั่วไปมาก แต่อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในกลุ่มแพทย์หญิงกลับสูงกว่าราว 2.5-4 เท่าเทียบกับประชากรทั่วไปและไม่ต่างจากตัวเลขในกลุ่มแพทย์ชาย
พญ.ทันวาร์ เผยว่า ผู้เชี่ยวชาญกำลังพยายามศึกษาสาเหตุของอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงลิ่วในกลุ่มแพทย์ โดยยกผลลัพธ์จากการศึกษาทบทวนชี้ว่าสาเหตุที่พบบ่อยมักหนีไม่พ้นโรคอารมณ์แปรปรวน ติดเหล้า และใช้สารเสพติด
อีกด้านหนึ่งมีการศึกษาวิจัยประเมินความชุกของโรคซึมเศร้าที่ร้อยละ 12 ในกลุ่มแพทย์ชายและร้อยละ 19.5 ในกลุ่มแพทย์หญิงอันเป็นระดับเดียวกับความชุกในกลุ่มประชากรทั่วไป โดยชี้ว่าโรคซึมเศร้ามักพบบ่อยในกลุ่มนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน (พบร้อยละ 15 และร้อยละ 30 ตามลำดับ)
คณะผู้ศึกษาวิจัยชี้ว่าปัญหาโรคอารมณ์แปรปรวนในแวดวงผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ไม่ได้จำกัดเฉพาะในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ทว่าข้อมูลจากฟินแลนด์, นอร์เวย์, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์, จีน และทั่วทุกมุมโลกล้วนรายงานความชุกที่สูงขึ้นของภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า และความคิดอยากฆ่าตัวตายทั้งในกลุ่มนักศึกษาแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์
พญ.ทันวาร์ ชี้ว่า ความอับอายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ขัดขวางการรักษา โดยอ้างถึงข้อมูลจากการศึกษาวิจัยซึ่งพบว่าครึ่งหนึ่งของแพทย์หญิงที่ตอบแบบสอบถามทางเฟซบุคมีลักษณะที่สอดคล้องกับเกณฑ์ความผิดปกติทางจิตแต่กลับไม่ยอมเข้ารับการรักษาเนื่องจากกลัวจะขายหน้า
ข้อมูลจากการศึกษาทบทวนรายงานว่า การใช้ยาพิษและแขวนคอเป็นวิธีฆ่าตัวตายที่แพทย์สหรัฐใช้กันมากที่สุด และว่า ความรู้ระดับสูงและสามารถเข้าถึงวิธีการจบชีวิตได้ง่ายเป็นสาเหตุสำคัญของอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จที่สูงในกลุ่มแพทย์ นอกจากนี้ยังชี้ด้วยว่ากระทั่งจิตแพทย์เองก็เป็นสาขาเฉพาะทางที่มีอัตราการฆ่าตัวตายติดกลุ่มหัวแถว
ปัจจุบันเริ่มเห็นการตื่นตัวแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มแพทย์ โดย พญ.ทันวาร์ กล่าวว่า การประชุมของ APA ในปีนี้มีหลายหัวข้อซึ่งเน้นไปที่สุขภาวะและปัญหาหมดไฟในการทำงาน ซึ่งอาจมีส่วนช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มแพทย์ได้
แนวโน้มอันน่าวิตก
รศ.พญ.เบธ บรอดสกี จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มแพทย์อยู่ในระดับน่าวิตก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกหากพิจารณาถึงความเครียดเรื้อรังที่แพทย์ต้องเผชิญมาตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษาแพทย์ จนเมื่อสำเร็จการศึกษาออกมาเป็นแพทย์ประจำบ้านก็ยังต้องผจญกับความคาดหวังที่สูง การแข่งขันเพื่อรักษาตำแหน่งของตนเอง แล้วไหนยังต้องอดนอนทำงานหามรุ่งหามค่ำ ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจนำไปสู่การใช้สารเสพติดอันเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของการฆ่าตัวตาย อีกทั้งสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของแพทย์หญิงก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มแพทย์สูงขึ้นเช่นกัน
รศ.พญ.บรอดสกี เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญซึ่งทุ่มเทแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มแพทย์ โดยเธอมองว่าการฆ่าตัวตายไม่ใช่อาชญากรรมหากแต่เป็น “ความป่วยไข้” ที่ทำให้บุคคลเสียชีวิตด้วยน้ำมือของตนเอง
รศ.พญ.บรอดสกี แสดงความชื่นชม APA ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มแพทย์ โดยชี้ว่าเป็นการกระตุกให้ตระหนักถึงปัญหาอันจะนำไปสู่หนทางสำหรับการป้องกันและแก้ไขในที่สุด และทิ้งท้ายว่าหากทุกฝ่ายอภิปรายปัญหาการฆ่าตัวตายในฐานะโรคภัยไข้เจ็บก็จะเป็นการนำปัญหานี้ออกจากมุมมืดและก้าวข้ามความอับอายอันเป็นเงาทะมึนที่ปกคลุมอยู่ตลอดมา
แปลจาก Physicians Experience Highest Suicide Rate of Any Profession [www.medscape.com]
- 893 views