กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค และกระทรวงศึกษาธิการ โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือยุติวัณโรคและวัณโรคดื้อยาประเทศไทย จัดทำฐานข้อมูลผู้ป่วย อบรมบุคลากร จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางห้องปฏิบัติการวัณโรคระดับนานาชาติ พัฒนาเครือข่ายบริการในโรงพยาบาลและชุมชนและวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อเร่งรัดยุติวัณโรคและวัณโรคดื้อยาของประเทศไทย
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายเข้มแข็งในการเร่งรัดการลดอุบัติการณ์วัณโรคตามยุทธศาสตร์ยุติวัณโรคขององค์การอนามัยโลก (The END TB Strategy) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค พ.ศ.2560-2564 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องอาศัยความร่วมมือและความเป็นเจ้าของร่วมกันจากภาคส่วนต่าง ๆ ถือว่า “รวมหมู่เป็นเจ้าของ” และต้องก้าวอย่างต่อเนื่องโดยกระทรวงศึกษาธิการจะช่วยเสริมศักยภาพบุคลากร และใช้องค์ความรู้ขับเคลื่อนการดำเนินงาน คือเสริมแรงด้วยความรู้
นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2561 – 2564 ทั้ง 2 กระทรวงจะบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยกรมควบคุมโรคจะเป็นหน่วยงานศูนย์กลางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายยุติวัณโรคของประเทศไทย และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นหน่วยงานหลักในการผลิตบัณฑิต วิจัย พัฒนา ส่งเสริมและเป็นศูนย์กลางในการบริการทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิชาการชั้นสูงที่มีความร่วมมือเพื่อพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการชันสูตร
ทั้งนี้ สาระสำคัญของบันทึกความร่วมมือ ประกอบด้วย 6 เรื่อง ได้แก่
1.จัดทำฐานข้อมูลผู้ป่วยวัณโรคและวัณโรคดื้อยา
2.ร่วมกันจัดอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องในงานวัณโรค ทั้งในและต่างประเทศ
3.พัฒนาและจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางห้องปฏิบัติการวัณโรคในระดับนานาชาติ เช่นประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง และอื่นๆ
4.พัฒนาเครือข่ายการจัดบริการตรวจคัดกรอง วินิจฉัย ดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคและวัณโรคดื้อยา รวมทั้งการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล
5.สนับสนุนการค้นหา วินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ป่วยในชุมชน สู่การยุติปัญหาวัณโรค
และ 6.ร่วมมือทางการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม การป้องกัน ค้นหา วินิจฉัย รวมถึงดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคและวัณโรคดื้อยา
- 7 views