แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง มข. แนะควรเพิ่มหน่วยงานด้านสาธารณสุขร่วมเป็นคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานปลาร้า เพื่อกำหนดค่ามาตรฐานสารก่อมะเร็ง “ไนโตรซามีน” ให้ปลอดภัยกับผู้บริโภค ลดมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคอีสาน
รศ.นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์
รศ.นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า จากการที่มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการกําหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : ปลาร้า ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย ซึ่งมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมานั้น ตนเห็นว่ายังไม่ครอบคลุมมาตรฐานด้านความปลอดภัยจึงควรมีการพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง
รศ.นพ.วัชรพงศ์ กล่าวว่า ปลาร้าถือว่าเป็นการถนอมอาหารของคนไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งจากการออกประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในครั้งนี้นั้นมีข้อกำหนดเรื่อง สี กลิ่น กลิ่นรส และความสะอาดแล้ว จึงควรมีการเพิ่มเรื่องมาตรฐานของปลาร้าในส่วนของปริมาณ “สารไนโตรซามีน” ซึ่งเป็นสารที่พบใน ปลาร้า ปลาจ่อม จากงานวิจัยพบว่าสารไนโตรซามีนก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งกระเพาะอาหาร และหากมีพยาธิใบไม้ในตับในอาหารร่วมกับไนโตรซามีน ก็ยิ่งทำให้เกิดมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดีมากยิ่งขึ้น โดยในพื้นที่ภาคอีสานมีการบริโภคปลาร้าแบบสุกๆ ดิบๆ มากกว่าภาคอื่นในประเทศไทยจึงมีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด
รศ.นพ.วัชรพงศ์ กล่าวว่า การกำหนดมาตรฐานปลาร้านั้น ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรควรเพิ่มผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขเข้าไปร่วมกำหนดมาตรฐานปลาร้าด้วย เพื่อกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่ใช่การกำหนดเรื่องลักษณะทางกายภาพ สี กลิ่น กลิ่นรส เท่านั้น
ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ wongnai
- 314 views