ประธานคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานฯ เขต 7 ขอนแก่น ชี้คนไทยตายจาก “ไส้ติ่งอักเสบ” มากเป็นอันดับ 5 ของโลก เหตุรู้โรคช้า และโรงพยาบาลเล็กไม่กล้าผ่าตัด แนะจัดระบบการรักษาใหม่ทั้งระบบ
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงพยาบาลท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ รศ.นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (ขอนแก่น) และคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานโรงพยาบาลท่าคันโท โดยมี ดร.วิมลรัตน์ ภูผาสุข รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์, นพ.พุทธรักษ์ ดีสิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าคันโท และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ
รศ.นพ.วัชรพงศ์ กล่าวว่า จากสถิติล่าสุดพบว่าคนไทยเสียชีวิตจากไส้ติ่งอักเสบเป็นอันดับ 5 ของโลก ทั้งนี้สาเหตุเกิดจากการวินิจฉัยโรคได้ช้า ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างการตรวจรักษา ซึ่งถือว่าอันดับในเรื่องนี้ใกล้เคียงกับประเทศด้อยพัฒนาในแถบแอฟริกา สถานการณ์ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคไส้ติ่งอักเสบที่มารักษาที่โรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอ จะถูกส่งไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดเกือบทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจากโรงพยาบาลประจำอำเภอไม่สามารถผ่าตัดได้ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ซึ่งกลับไปเหมือนเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ที่ผู้ป่วยโรคไส้ติ่งอักเสบจะถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ทั้งหมด จึงควรมีการจัดระบบการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และโรงพยาบาล ในระบบสาธารณสุข เพื่อลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงให้ได้มากที่สุด
นพ.พุทธรักษ์ กล่าวชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน การจัดการเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ว่า โรงพยาบาลท่าคันโทเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง และมีพื้นฐานที่มาจากการเป็นโรงพยาบาลของประชาชน มีตึกที่สร้างขึ้นมาด้วยเงินบริจาคของประชาชน 15 ล้านบาท เป็นโรงพยาบาลที่ประชาชนในพื้นที่ช่วยกันสร้างขึ้นโดยไม่มีผู้รับเหมา และมีผลงานเด่น เช่น เป็นพื้นที่ต้นแบบในการร่วมจัดระบบบริการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่ติดบ้านติดเตียงได้รับการดูแลอย่างมีมาตรฐาน
สำหรับการดำเนินงานด้านการจัดการข้อร้องเรียน ร้องทุกข์นั้น ทางโรงพยาบาลมีการทบทวน และพัฒนาระบบงานเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องที่ได้รับเรื่องร้องเรียน มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มหน่วยงานกลางในโรงพยาบาลเพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการส่งต่อ เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดกับ ขอนแก่นและอุดรธานี หากคิดตามระยะทางนั้นควรจะมีการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลอุดรธานี และ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน การเพิ่มช่องทางด่วนให้กับผู้ป่วยกลุ่มพิเศษ 7 โรค การจัดเจ้าหน้าที่เข้าเวรตลอดทุกช่วงเวลาไม่มีเวลาพักเที่ยง เพื่อให้บริการกับประชาชนได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน และประชาชนมีความพึงพอใจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจงสถิติไส้ติ่งอักเสบคร่าชีวิตคนไทย เหตุ รพ.อำเภอไม่กล้าผ่าตัด-เลือกส่งต่อ
แพทย์ชี้ข้อมูลคนไทยตายไส้ติ่งอักเสบสูงอันดับ 5 ของโลกเกินจริง
- 281 views