สบส.เตรียมนำข้อมูลผลการศึกษา “อสต.” เสนอ คกก.ส่งเสริมสนับสนุน อสม.กลาง พิจารณาสู่การกำหนดทิศทางและแนวทางดำเนินงาน อสต.อนาคต ชี้ อสต.มีประโยชน์ต่องานสุขภาพพื้นที่ ทั้งควบคุมโรค ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และลดภาระค่ารักษาหน่วยบริการ เผยจัดทำหลักสูตรอบรม อสต. ปัจจุบันมี อสต.ผ่านการอบรมแล้วกว่า 3 พันคนทั่วประเทศ
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการดำเนินงานเกี่ยวกับอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ในส่วนของ สบส.ว่า ขณะนี้กรม สบส.อยู่ระหว่างการเตรียมนำผลการศึกษาวิจัยแนวทางการนำประชากรข้ามชาติเข้ามาร่วมสนับสนุนการดูแลสุขภาพในกลุ่มประชากรข้ามชาติ ในรูปแบบอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือที่เรียกว่า อสต.เพื่อพิจารณาในคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้านกลาง ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน จากที่ได้ดำเนินการในช่วง 2 ปี (ปี 2559-2560) ภายหลังได้รับมอบให้ทำการรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางและแนวทางดำเนินงาน อสต.ต่อไป
ซึ่งจากการศึกษาเราเห็นประโยชน์ทั้งในด้านการควบคุมโรค การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในกลุ่มประชากรข้ามชาติ ที่นำไปสู่การลดภาระค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลของหน่วยบริการในการดูแลประชากรข้ามชาติเหล่านี้ รวมถึงการช่วยให้เข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐาน
ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้ในการศึกษาวิจัย ได้แบ่งพื้นที่เพื่อดำเนินงานสร้างการมีส่วนร่วมในกลุ่มประชากรข้ามชาติเป็น 5 รูปแบบด้วยกัน คือ 1.ชุมชนประชากรข้ามชาติ 2.โรงงานต่างๆ 3.พื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดน มีทั้งคนข้ามชาติที่อาศัยแบบชั่วคราวและถาวร 4.เรือประมง และ 5.สถานบริการต่างๆ ที่มีประชากรข้ามชาติทำงานอยู่ ขณะที่รูปแบบการจัดบริการเพื่อให้ข้อมูลด้านสุขภาพ มี 4 รูปแบบ คือ 1.ศูนย์บริการสาธารณสุขมูลฐานชุมชนไทย-ต่างด้าว (สสมช.) 2.ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร 3.จุดบริการที่เป็นมิตรต่อชุมชน และ 4.ศูนย์บริการสุขภาพชุมชน
นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า ในการศึกษาวิจัยยังได้มีการพัฒนาระบบเพื่อสร้างเครือข่าย อสต. โดยกรม สบส.ได้จัดทำหลักสูตรการอบรม อสต.ทั้งหลักสูตรการอบรมครู ก. ใช้ระยะเวลาอบรม 75 ชั่วโมง และ อสต.ทั่วไป ใช้ระยะเวลาอบรม 44 ชั่วโมง พร้อมกับการจัดทำคู่มือต้นแบบการอบรม ที่มีการจัดทำเอกสารแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั้งลาว เวียดนาม พม่า และกัมพูชา และคู่มือสำหรับประชากรต่างด้าวในการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย
ทั้งนี้ที่ผ่านมา สบส.ได้มีการอบรมครู ก.แล้วจำนวน 106 คนใน 23 จังหวัดที่มีประชากรข้ามชาติอาศํยอยู่มาก พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อขยายผล อสต. ทำให้ขณะนี้ภาพรวมทั่วประเทศได้มีการอบรม อสต.ไปแล้วจำนวน 3,040 คน แบ่งเป็นภาคเหนือ 650 คน ภาคกลาง 1,530 คน ภาคใต้ 530 คน และภาคตะวันออกเฉียเหนือน 330 คน
“ขณะนี้กรม สบส.ยังไม่มีการรับรองสถานะ อสต.ต้องนำผลการศึกษาเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้านกลางก่อน เพื่อพิจารณาว่าจะสามารถรับรองสถานะ อสต.ได้หรือไม่ หรือควรรับรองในรูปแบบใด เพราะตามหลักเกณฑ์และระเบียบอาสาสมัครสาธารณสุขปัจจุบัน รับรองเฉพาะ อสม.ที่เป็นคนไทยเท่านั้น เนื่องจาก อสต.ยังมีประเด็นที่เป็นข้อพิจารณา ทั้งการเข้าเมืองโดยถูกกฎหมายหรือไม่ การโยกย้ายถิ่น การใช้งบประมาณเพื่อจ่ายค่าป่วยการ และการให้สิทธิต่างๆ รวมทั้งทิศทางนโยบายของรัฐบาล” รองอธิบดี สบส. กล่าว และว่า ปัจจุบันยังเป็นเพียงแค่การสนับสนุนการจัดอบรม อสต.เท่านั้น
นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของการโยกย้ายถิ่นเป็นปัญหาหนึ่งที่ส่งผลต่อการดำเนินงาน อสต. เพราะจากข้อมูลการติดตามเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบฐานข้อมูล อสต.พบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากการอบรม อสต.จำนวน 3,040 คน ปรากฎว่าขณะนี้ยังมี อสต.ที่ยังคงอยู่ในพื้นที่และทำหน้าที่ อสต.อยู่ร้อยละ 40 เท่านั้น ส่วน อสต.ที่เหลือบางคนกลับภูมิลำเนาหรือย้ายงานออกจากพื้นที่ และมีจำนวนหนึ่งที่ติดต่อไม่ได้แล้ว ทำให้ขาดความต่อเนื่องอย่าง อสม.ไทย อย่างไรก็ตามอย่างน้อยยังมี อสต.ที่ยังคงอยู่ในระบบจำนวนหนึ่งในการทำหน้าที่เป็นแกนนำเพื่อดูแลคนในชุมชนและลดปัญหาสุขภาพในพื้นที่ได้
- 138 views