นายกรัฐมนตรีรณรงค์ “วันอนามัยโลก” ร่วมติดเข็มกลัด “สุขภาพดีถ้วนหน้า” เผยทั่วโลกชื่นชมนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ครอบคลุมดูแลสุขภาพคนไทย 99.95% ระบุก้าวต่อไปลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพและทำระบบให้ยั่งยืน
ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล - เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำ นพ.แดเนียล เอ. เคอร์เทสช์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (Dr.Daniel A. Kertesz, WHO Representative to Thailand) และคณะผู้แทนทุกภาคส่วน เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานความก้าวหน้าตามนโยบาย “สุขภาพดีถ้วนหน้า” (Health for All) เนื่องในโอกาส “วันอนามัยโลก” หรือ “World Health Day” ตรงกับวันที่ 7 เมษายนของทุกปี พร้อมจัดแสดงนิทศรรการวันอนามัยโลก โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจเยี่ยมความพร้อมและชมนิทรรศการก่อนเริ่มงาน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกต่างชื่นชมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยอยู่แล้วที่ได้ดำเนินนโยบายนี้ ทำให้ครอบคลุมดูแลประชากรประเทศถึง 99.95% เหลือเพียงเด็กแรกเกิดเท่านั้น แต่หลังจากนี้จะทำอย่างไรเพื่อให้การรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขเป็นไปอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของประเทศ โดยในส่วนของงบประมาณนั้น หากประเทศมีรายได้มากขึ้น งบประมาณประเทศก็จะมากขึ้น รวมถึงงบประมาณที่จะลงสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่หากรายได้ไม่เพิ่มขึ้น จะทำอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดเพื่อทำให้ระบบเดินต่อไปได้และยั่งยืน
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ขณะนี้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นสิทธิพื้นฐานอยู่แล้ว การออกแบบให้สามารถตรวจสอบสิทธิได้ง่ายและสะดวกเป็นเรื่องที่ดีและจำเป็น แต่ต้องให้ความสำคัญกับการเข้าถึงสิทธิด้วย ต้องช่วยกันหาทางว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้เมื่อยามจำเป็น
ด้าน นพ.แดเนียล เอ. เคอร์เทสช์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อดูแลสุขภาพในประชากรในประเทศ เป็นผลจากการสนับสนุนของรัฐบาลและความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และหน่วยบริการที่ได้ทำงานเสียสละมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างทั่วถึง
ก่อนหน้านี้ ตัวแทนผู้ป่วยที่เข้าถึงการรักษาจากนโยบายหลักประกันสุขภาพถุ้วนหน้า โดย นางสาวณัฐพร ภู่โชติ ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต ได้ติดเข็มกลัด “สุขภาพดีถ้วนหน้า” ให้กับนายกรัฐมนตรี เพื่อขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ผู้ป่วยทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะที่ ดช.ญาณากร ชุ่มเย็น หรือน้องมาร์ค ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจ ได้รดน้ำขอพรจากนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ ได้กล่าวอวยพรขอให้น้องมาร์คแข็งแรง เรียนหนังสือเก่งๆ หายเจ็บหายป่วยตลอดไป
ทั้งนี้ “วันอนามัยโลก” ถูกกำหนดขึ้นโดยที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งแรก เพื่อให้ร่วมตระหนักถึงความสำคัญการมี “สุขภาพดีถ้วนหน้า” (Health for All) ที่เป็นเป้าหมายสำคัญในการดำเนินงานขององค์การอนามัยโลก และปี 2561 ในวาระครบ 70 ปี องค์การอนามัยโลก เป็นโอกาสอันดีเพื่อร่วมผลักดัน “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อทุกคน ทุกหน ทุกแห่งภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วหน้าในปี 2568 สำหรับประเทศไทยเริ่มดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2545 และจัดตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” โดยมี สปสช. เป็นหน่วยงานดำเนินงาน ส่งผลให้คนไทยกว่า 48 ล้านคน เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ไม่เพียงได้รับการยอมรับจากในประเทศ แต่ยังได้รับความชื่นชมจากองค์กรระหว่างประเทศและนานาชาติ ยกย่องให้ไทยเป็นต้นแบบของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ดช.ญาณากร หรือ น้องมาร์ค เป็นผู้ป่วยรับการผ่าตัดหัวใจตั้งแต่อายุ 25 วัน ด้วยโครงการผ่าตัดหัวใจ 8,000 ดวง เฉลิมพระเกียรติ 80/84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 – 5 ธันวาคม 2550 ทำให้ลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจที่รอการผ่าตัด ทำให้เข้าถึงการรักษาได้ทันท่วงที ปัจจุบันน้องมาร์คมีร่างกายแข็งแรง เล่นกีฬา ช่วยแม่ทำงานบ้านได้ และเข้าเรียนตามปกติไม่ต่างจากเด็กทั่วไป มีเพียงรอยแผลผ่าตัดหัวใจที่แสดงให้เห็นว่าเคยป่วยด้วยโรคหัวใจรุนแรงที่อาจเสียชีวิตได้เท่านั้น
นางสาวณัฐพร เป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจากโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง ( SLE) ตั้งแต่อายุ 18 ปี เริ่มต้นมีอาการบวมตามร่างกาย เหนื่อยง่าย มีผื่นขึ้นที่หน้าและผมร่วง ต้องรักษาโดยกินยากดภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง ทำให้ไตทำงานน้อยลง เกิดภาวะไตเสื่อม ต้องรับการบำบัดทดแทนไตในที่สุด ต่อมาได้รับการปลูกถ่ายไตจากมารดา เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2559 ปัจจุบันมีร่างกายแข็งแรงดี ทำงานได้ตามปกติ แต่ยังต้องนัดตรวจเพื่อติดตามการรักษาเป็นระยะและรับยากดภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งปลูกถ่ายไตและรักษาโรค SLE รวมทั้งยังติดตามการรักษาต่อเนื่อง
- 23 views