ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนกยกสถานะ “สถาบันพระบรมราชนก” เป็นอุดมศึกษาเฉพาะทาง จัดการศึกษาตามระดับปริญญาในด้านการแพทย์ การพยาบาล การสาธารณสุข และเวชศาสตร์ เป็นนิติบุคคลขึ้นตรง สธ. ผลิตและพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของ สธ. รายได้ไม่ต้องส่งเข้าคลัง
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติอนุมัติและรับทราบร่างพระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ดังนี้
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
3. ให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. และข้อสังเกตของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว แบ่งออกเป็น 6 หมวด และบทเฉพาะกาลรวมทั้งสิ้น 68 มาตรา
สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1.กำหนดให้สถาบันพระบรมราชชนกเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางของรัฐที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ในด้านการแพทย์ การพยาบาล การสาธารณสุข และสหเวชศาสตร์ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ อยู่ในสังกัด สธ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของ สธ. ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพ ทำการสอน ทำการวิจัย ทำการฝึกอบรม และให้บริการทางวิชาการแก่สังคม โดยมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขเป็นสำคัญ
2.กำหนดให้วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรจังหวัดปราจีนบุรี วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีทุกแห่ง วิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม และวิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข กาญจนาภิเษก ที่ได้จัดตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเป็นส่วนราชการของสถาบัน
3.กำหนดให้สถาบันแบ่งส่วนงานออกเป็น (1) สำนักงานอธิการบดี (2) คณะ และ (3) สำนักและให้สถาบันมีอำนาจให้ความร่วมมือกับสถาบันศึกษาอื่นทั้งในและต่างประเทศ โดยรับสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่นเข้าสมทบในสถาบัน หรือจัดการศึกษาหรือดำเนินการวิจัยร่วมกับสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่นในประเทศหรือต่างประเทศ หรือขององค์การระหว่างประเทศได้
4.กำหนดให้รายได้และผลประโยชน์ของสถาบัน รวมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดจากที่ราชพัสดุ เบี้ยปรับที่เกิดจากการผิดสัญญาลาศึกษา และเบี้ยปรับที่เกิดจากการผิดสัญญาการซื้อทรัพย์สินหรือสัญญาจ้างทำของที่ดำเนินการโดยใช้เงินงบประมาณ ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
5.กำหนดให้เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่สถาบันต้องจัดการตามเงื่อนไขที่ผู้อุทิศกำหนดไว้และต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน
6.กำหนดให้มีสภาสถาบัน ประกอบด้วยนายกสภาสถาบัน อุปนายกสภาสถาบัน กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการสภาสถาบันโดยตำแหน่ง และกรรมการสภาสถาบัน และให้สภาสถาบันมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
7.กำหนดให้มีสภาวิชาการ ประกอบด้วย ประธานสภาวิชาการและกรรมการสภาวิชาการ มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะนโยบายและแผนพัฒนาทางวิชาการของสถาบันต่อสภาสถาบัน กำหนดคุณภาพและมาตรฐานวิชาการของสถาบัน เป็นต้น
8.กำหนดให้มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบการบริหารงานของสถาบัน กำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม โดยให้อธิการบดีมีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนด
9.กำหนดให้สถาบันจัดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถาบัน
10.กำหนดให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้าง อัตรากำลัง งบประมาณ และรายได้ของสถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เว้นแต่วิทยาลัยนักบริหารสาธารณสุข และแก้วกัลยาสิกขาลัย ไปเป็นของสถาบันพระบรมราชชนกตามพระราชบัญญัตินี้ ตามรายการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยกสถาบันพระบรมราชชนกเป็นอุดมศึกษาเฉพาะทาง เตรียมเปิดสอน 2 คณะ ‘พยาบาล-เวชศาสตร์’
- 1023 views