การมีสติและไม่ประมาทในการขับขี่รถ ทั้งรถยนต์ และจักรยานยนต์ เป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่จะต้องระลึกถึงเสมอ แต่เรื่องการตรวจสภาพรถ รวมไปถึงศึกษาเส้นทางการขับขี่ในขณะที่เดินทางไกล รู้เรื่องกฎหมายการจราจร เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง
ทีมเว็บไซต์ สสส. มี 8 วิธีเดินทางปลอดภัยไม่ก่อ ไม่เกิดอุบัติเหตุ ที่จะทำให้คุณเตรียมตัวและเตรียมพร้อมในการเดินทางได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องกลัวอุบัติเหตุ ถ้าคุณไม่ประมาท ดังนี้
1.เช็คเส้นทางให้พร้อม เนื่องจากเส้นทางแต่ละสายย่อมแตกต่างกัน ด้วยสภาพภูมิประเทศ และสภาพแวดล้อม ถ้าเป็นเส้นทางไม่เคยไป ควรศึกษาจากแผนที่ให้ดี
2.เว้นระยะให้คันหน้า เพื่อความปลอดภัย เป็นกฎที่สำคัญที่สุดในการขับขี่อย่างปลอดภัย คือ การเว้นระยะห่างจากรถคันหน้า เช่น ถ้าขับรถด้วยความเร็ว 40 ไมล์/ชม. ให้เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าเท่ากับรถ 4 คัน การรักษาระยะห่างเช่นนี้ จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้
3.เด็กนั่งเบาะหลัง เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ควรนั่งที่เบาะหลังเท่านั้น เพื่อป้องกันการกระแทกเมื่อเกิดการชน
4.สามหมายเลขจำขึ้นใจ 1584 สายด่วนคุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ, 1193 ตำรวจทางหลวง, 1677 ร่วมด้วยช่วยกัน
5.เช็ครถให้ดี ไม่ว่าจะเป็นรถของเราเอง หรือเช่ามาก็ต้องเช็คสภาพรถให้ดีก่อนออกเดินทาง
6.รถตู้ที่โดยสารต้องป้ายเหลือง ขึ้นรถตู้ต้องเลือกที่มีป้ายเหลืองซึ่งขึ้นทะเบียนถูกต้อง และไม่มีการดัดแปลงเพิ่มที่นั่ง
7.จอดรถข้างถนนต้องระวัง เลี่ยงการจอดรถในจุดเสี่ยง เช่น ทางขึ้นลงสะพาน หรือทางแคบ
8.หากจำเป็นต้องขับลดเร็ว ต้องเพิ่มระยะหยุด หมายความว่า ยิ่งขับเร็ว ยิ่งต้องเพิ่มระยะเบรกให้ห่างจากคันหน้า หรือให้ขับในความเร็วปกติจะปลอดภัยมากกว่า
นายพรหมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบติเหตุ (สคอ.) ชี้แนะว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะถึงนี้ หลายคนได้นัดแนะเพื่อนๆ ในการเล่นน้ำสงกรานต์ในที่ต่างๆ แต่เราจะเล่นน้ำสงกรานต์อย่างไรให้สนุกและปลอดภัย นับเป็นสิ่งสำคัญ
1. การเล่นน้ำสงกรานต์ ควรเล่นน้ำตามวิถีไทย ไม่รุนแรง ไม่โป๊ ไม่เปลือย
2. หากเล่นน้ำท้ายกระบะ อย่าเปิดท้ายกระบะเด็ดขาด ไม่ควรห้อยขา และไม่ยืนขณะรถวิ่ง เพราะหากรถเหวี่ยงหรือเข้าโค้ง เบรกกะทันหัน จะทำให้คนหล่นลงมาบาดเจ็บ เสียชีวิต
3. รถที่ใช้บรรทุกน้ำและคน ควรติดรั้วเหล็กหรือที่กั้นให้แข็งแรง มีความสูงอย่างน้อย 50 เซนติเมตร หรือ 120 เซนติเมตร เนื่องจากเป็นความสูงที่สามารถกั้นคนไม่ให้ตกมาได้
4. ถ้ามีถังใส่น้ำขึ้นรถไปด้วย ควรหาผ้าหนารองพื้น ผูกเชือกให้แน่หนากันลื่นไหลมาทับคน
5. คนขับรถห้ามดื่มสุราอย่างเด็ดขาด
6. ผู้โดยสารและคนเล่นน้ำห้ามยื่นแก้วเหล้าให้คนขับรถ เพราะเท่ากับยื่นความตายให้ตัวเองให้ผู้อื่น
7. ห้ามขับเร็ว เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุคนที่นั่งมาด้วยจะหลุดกระเด็น แบบเทกระจาด
8. งดการใช้น้ำแข็งแช่ในถังน้ำ แล้วนำมาสาดผู้อื่น เพราะบางครั้งน้ำแข็งที่ติดไปอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ เสียทรัพย์ รวมทั้งความสกปรก ความหนาวเย็นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
9. กรณีขับขี่รถจักรยานยนต์ต้อง “ดื่มไม่ขับ ลดความเร็ว สวมหมวกนิรภัย"
เมื่อไหร่ที่เกิดอุบัติเหตุจากการประมาทของเราเอง ผลกระทบมักเกิดกับคนรอบข้างด้วย ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่ใช่ญาติ แต่เขาคือ เพื่อนมนุษย์ที่ต้องมารับภาระจากความประมาทด้วย โดยเฉพาะการดื่มแล้วขับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมายาวนานที่สร้างการสูญเสีย ความพิการ หรือการขาดเสาหลักในการดูแลครอบครัว
ดังนั้นการจะขับขี่ยานพาหนะ ต้องศึกษาวิธีการขับขี่ที่ปลอดภัย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุจราจรบนท้องถนนได้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เห็นความสำคัญของการกระตุ้นเพื่อลดลดปัญหาเหล่านี้ จึงมีการออกมารณรงค์ ดื่มไม่ขับ อยู่บ่อยๆ ก็เพื่อลดปัญหาเหล่านี้ให้ลดลง เช่น โครงการ ลดเร็ว ลดเสี่ยง ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย และการรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุวันหยุดยาวสงกรานต์ที่กำลังจะถึงนี้
เรื่องโดย ชมนภัส วังอินทร์ team content www.thaihealth.or.th
- 856 views