สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ ตั้งคลินิกเดย์แคร์ต้นแบบดูแลคนพิการและผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายครอบคลุมทุกมิติ
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ผู้สูงอายุและคนพิการ มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย จิตใจ ความเสื่อมถอยของสุขภาพ ความรู้สึกซึมเศร้าหดหู่ ความเหงา ว้าเหว่ บุคคลเหล่านี้ควรได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานที่ดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย จึงได้จัดตั้งคลินิกเดย์แคร์เพื่อเป็นหน่วยงานต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุและคนพิการครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ส่งเสริมและกระตุ้นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งผู้ป่วยที่มารับบริการในคลินิกเดย์แคร์ แบ่งเป็นโรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 79 โรคที่เกิดจากการบาดเจ็บไขสันหลังร้อยละ 6 และกลุ่มโรคอื่นๆ พบร้อยละ15 ได้แก่ ภาวะสมองเสื่อม พาร์กินสัน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น
คลินิกเดย์แคร์มุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เพิ่มทักษะความรู้ความสามารถ และความแข็งแรงของร่างกาย ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ญาติและผู้ดูแลจะได้เรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ ที่ช่วยในการดูแลขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย คลินิกเดย์แคร์ให้การรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ และช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะยอมรับข้อจำกัดของตนเองตลอดจนมีส่วนร่วมกับครอบครัว
นพ.ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวว่า การให้บริการประกอบด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพ กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด กิจกรรมประกอบอาหาร เกม สันทนาการ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ศิลปะบำบัด และกิจกรรมพิเศษ ในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ วันเกิด เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ที่จะเข้ารับบริการควรเป็นผู้สูงอายุและผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบเข้มข้นจากงานกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดจนถึงระดับการฟื้นฟูที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ควรมีระดับการรับรู้ ความเข้าใจ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นได้ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพและกิจกรรมทักษะสังคมได้ทั้งงานกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด และที่สำคัญต้องมีผู้ดูแลหรือญาติอย่างน้อย 1 คน มาด้วยเมื่อมารับบริการ
- 402 views