David Penner เขียนบทความเรื่อง The way we treat young doctors is barbaric เผยแพร่ในเว็บไซต์ kevinmd.com เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 ระบุว่า การเปรียบเทียบกับการพังทลายของชนชั้นกลางจากแผนปฏิรูป (New Deal) หลังสภาพเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงคริศตทศวรรษ 1930 คงเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการเอารัดเอาเปรียบและกดขี่นักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านของสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมีสถานะไม่ต่างอะไรจากแรงงานทาสยุคใหม่
ภาระหนี้การศึกษา การจ้างงานภายนอกหรือแรงงานต่างชาติ การเอารัดเอาเปรียบ ตลอดจนค่าครองชีพที่พุ่งสูงเป็นตัวการสำคัญที่สั่นคลอนสถานะของชนชั้นกลางในสหรัฐฯ ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันแขวนอยู่บนเส้นด้ายนั้นขัดต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตย และแท้จริงแล้วภาวะบีบคั้นที่รุนแรงถึงกับทำให้นักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านบางคนเลือกปลิดชีวิตตนเองเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของปัญหาเท่านั้น
สภาพแวดล้อมการทำงานที่ไร้ความเท่าเทียมในสหรัฐฯ สัมพันธ์แนบแน่นกับสภาพการณ์ที่ชาวอเมริกันหลายล้านคนยังคงว่างงานและอีกจำนวนมหาศาลต้องทนทำงานค่าแรงต่ำซึ่งทำให้พวกเขาไม่สามารถแข็งข้อกับนายจ้างที่พร้อมจะสูบผลประโยชน์อย่างเต็มที่
นักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ก็ไม่พ้นจากวังวนความโหดร้ายนี้ และน่าเสียดายที่นักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านซึ่งโดนกลั่นแกล้งหรือกดขี่มักสูญเสียความรู้สึกเอาใจใส่และเห็นอกเห็นใจ กระทั่งกลายเป็นหมางเมินหรือก้าวร้าวต่อผู้ป่วยในความดูแลของตน
เราอาจเปรียบการแสวงผลประโยชน์จากแพทย์รุ่นเยาว์กับการทำนาบนหลังครู ไม่ต่างอะไรกับการบังคับให้ครูวิชาภาษาอังกฤษระดับมัธยมปลายสอนนักเรียนเทอมละหลายร้อยคน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานของครู ขณะเดียวกันก็ลดทอนคุณค่าของการเรียนการสอนให้เหลือเพียงการสอนตามแนวข้อสอบเท่านั้น
แพทย์ประจำบ้านบางส่วนถูกครอบงำให้เชื่อว่าการเอารัดเอาเปรียบลักษณะนี้จะช่วยให้พวกเขาเป็นแพทย์ที่ดีขึ้น และเชื่อว่าการแสวงหาประโยชน์ดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อ “นำไปสู่ความสมบูรณ์แบบ” ปัจจุบันความผิดพลาดจากบุคลากรการแพทย์เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ในสหรัฐ...นี่หรือที่เรียกกันว่าสมบูรณ์แบบ?
ลองเทียบกับวงการมหาวิทยาลัยที่อาจารย์ถูกบีบให้เล่นเกมแจกเกรด ซึ่งหากอาจารย์ปฏิเสธก็จะตกเป็นที่เกลียดชังทั้งจากนักศึกษาและผู้บริหาร อาจารย์ในสหรัฐฯ ทุกวันนี้ได้เงินเดือนเพียงน้อยนิดและไม่มีแม้กระทั่งประกันสุขภาพ ขณะเดียวกันก็พร้อมจะตกงานได้ทุกเมื่อหากผลประเมินสิ้นเทอมจากนักศึกษาออกมาไม่ดี ถึงตอนนี้นักศึกษากลายเป็นลูกค้าส่วนอาจารย์ก็เป็นเพียงลูกจ้างใช้แล้วทิ้ง แล้วอาจารย์จะได้ผลประเมินเป็นลบได้อย่างไรกัน?...ทางลัดที่สุดคือไม่ให้ A มากพอนั่นไง! สภาพการณ์นี้ไม่ต่างอะไรเลยกับแพทย์ซึ่งได้เสียงตำหนิเพราะไม่จ่ายยาโอปิออยด์หรือยาปฏิชีวนะให้กับผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยา
ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกแล้วหากชาวอเมริกันสักคนทุ่มเทระยะเวลาหลายปีเพื่อไขว่คว้าปริญญาเอก มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชื่อดัง มีอาชีพการงานที่ดูมั่นคง แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าถูกปลดจากงานและจบลงด้วยสภาพที่ไม่ต่างจากสุนัขข้างถนน
เราได้ยินเสียงเตือนแล้วว่าชาวอเมริกันต้องโทษตัวเองหากว่าเรียนจบสูงในสาขาวิชาชีพติดตลาดแต่ไม่สามารถหางานได้ และอีกไม่นานก็คงจะเริ่มมีได้ยินคำถามว่า “นายจบแพทย์มาเรอะ? แล้วจะไปทำมาหากินอะไรล่ะนั่น!?” อย่าลืมสิว่าเมื่อไม่นานเท่าไรการเรียนจบสูงยังเป็นใบเบิกทางสู่อาชีพการงานที่สดใสอยู่เลย
เห็นได้ชัดว่าชาวอเมริกันกำลังสูญเสียชุมชนที่แท้จริงและผูกตัวเองติดอยู่กับงาน ซึ่งหากงานนั้นไม่สามารถยังผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจก็จะกลายเป็นหลักฐานตอกย้ำถึงความล้มเหลว และอาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อสภาพจิตใจของบุคคลนั้น
ผู้เขียนไม่ได้จงใจจะฉีกออกจากประเด็นระบบสุขภาพของสหรัฐฯ สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะบอกก็คือต่อให้เล่นโยคะ นั่งสมาธิ หรือใช้ยามากเพียงใดก็ไม่อาจเยียวยานักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ประจำบ้านที่กำลังทนทรมาน วิธีเดียวที่จะช่วยพวกเขาได้มีเพียงการกอบกู้ความเป็นมนุษย์ ความรู้สึกเอาใจใส่ และความเอื้ออาทรต่อกันเท่านั้น
คำพูดที่ว่า “คุณไม่ได้เดียวดาย” อาจเป็นจริง ต้องไม่ลืมว่าชาวอเมริกันหลายล้านคนก็คว้าปริญญาในสาขาที่ใฝ่ฝันแต่สุดท้ายก็กลายเป็นแรงงานทาสเช่นเดียวกับนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน แต่นั่นก็หมายถึงว่าพวกเขาต้องมีโชคพอจะได้งานทำเสียก่อนนะ
ความฝันที่จะช่วยคนอื่นอาจสลายไปเมื่อตกอยู่ภายใต้แรงกดขี่อย่างไม่ปราณีปราศรัย การเอารัดเอาเปรียบอย่างไร้มนุษยธรรมบีบให้แพทย์รุ่นเยาว์และผู้ป่วยอยู่ในภาวะคับขันอย่างยิ่ง นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ประจำบ้านที่อดนอนกรำงานหนักอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุซึ่งจะกลายเป็นตราบาปที่พวกเขาจะไม่มีวันอภัยให้ตัวเองไปตลอดกาล
แปลจาก The way we treat young doctors is barbaric: www.kevinmd.com
- 57 views