'พลเอกฉัตรชัย' รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลงานรัฐบาลด้านสังคม คืนผู้สูงอายุจากติดบ้าน ติดเตียง สู่สังคม และนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิ์ทุกที่” เข้ารักษาโรงพยาบาลใกล้ที่สุด ไม่ต้องสำรองจ่าย 72 ชั่วโมงแรก
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล กทม. พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงผลงานสำคัญด้านสังคมของรัฐบาล
พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 มีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 20 ของประชากร ด้วยวิสัยทัศน์ “ผู้สูงวัยเป็นหลักชัยของสังคม” ตามยุทธศาสตร์ 3S คือ Strong สุขภาพแข็งแรง Security มั่นคงปลอดภัย และ Social Participation มีส่วนร่วมในสังคม บูรณาการความร่วมมือ 4 กระทรวง คือ มหาดไทย, พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ศึกษาธิการ และสาธารณสุข นำนโยบายสู่การปฏิบัติ สร้างกลไกการทำงานให้เอื้อต่อการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ในปี 2561 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 1,159.2 ล้านบาท มากกว่าปีที่ผ่านมา 259 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC) ได้รับการดูแล 193,200 คน ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมา และได้จัดอบรมผู้จัดการดูแลผู้สูงอายุ 7,391 คน ผลิตผู้ดูแลผู้สูงอายุ 50,146 คน มีตำบลที่เข้าร่วมโครงการ 4,512 ตำบล ช่วยให้ผู้สูงอายุพ้นจากภาวะติดเตียง ติดบ้าน กลับเข้าสู่สังคมได้มากขึ้น เกิดนวัตกรรมโดดเด่นเป็นต้นแบบสำหรับพื้นที่อื่น เช่น การบริหารทุ่งตะโกโมเดล จ.ชุมพร, การใช้หมอครอบครัวดูแลผู้สูงอายุของ อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์, การดำเนินงาน LTC เข้มแข็งโดยการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายองค์กรในชุมชน ต.กุง อ.ศิลาลาด จ.ศรีสะเกษ สำหรับในเขตเมืองทีมหมอครอบครัว ทีมสหวิชาชีพที่เข้มแข็งดูแลผู้สูงอายุของศูนย์บริการสาธารณสุข 52 สามเสนนอก กทม.
ด้าน นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิ์ทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) เป็นครั้งแรกที่คนไทยทุกสิทธิ์การรักษาสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่มีมาตรฐานในโรงพยาบาลของรัฐทุกสังกัด และโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุดหรือไปถึงเร็วที่สุดโดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลในช่วง 72 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นจะได้รับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดหรือโรงพยาบาลที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิต ลดความพิการ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อ 1 เมษายน 2560 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 มีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ 14,180 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่ กทม.ร้อยละ 45 ส่วนใหญ่ร้อยละ 88 เป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้มาจากการบาดเจ็บ 5 อันดับแรก คือ กลุ่มอาการหายใจลำบาก/ติดขัด กลุ่มอาการเจ็บแน่นทรวงอก/ หัวใจ/ มีปัญหาทางด้านหัวใจ กลุ่มอาการอัมพาต (กำลังกล้ามเนื้ออ่อนแรง)เฉียบพลัน กลุ่มอาการไม่รู้สติ/ ไม่ตอบสนอง/ หมดสติชั่ววูบ และกลุ่มอาการหัวใจหยุดเต้น เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร้อยละ 64 สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ร้อยละ 17 ประกันสังคมร้อยละ 13 และอื่น ๆ ร้อยละ 5 คิดเป็นเงินที่จ่ายในระบบ UCEP 246 ล้านบาท หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิ UCEP โทร. 02 872 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
- 25 views