เครือข่ายสุขภาพเตรียมรณรงค์ครั้งใหญ่ เดินสายสุ่มติดป้ายตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไร้มาตรฐานในเขตต่างๆ ของ กทม. หวังปลุกกระแสสังคมหันมาใส่ใจคุณภาพน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ หลังพบเกือบทั้งหมดเป็นตู้เถื่อน ไม่มีการควบคุมมาตรฐาน หวั่นส่งกระทบสุขภาพประชาชนระยะยาว
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรภาคีเครือข่ายจัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ “น้ำดื่มปลอดภัยสำหรับประชาชน” ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยมีหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม และตัวแทนประชาชนจากเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ ร่วมหารือ
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ รองประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแหงชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ กล่าวว่า น้ำดื่มปลอดภัยสำหรับประชาชนเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 เนื่องจากปัจจุบันตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ แต่ยังขาดการดูแลและควบคุมมาตรฐานอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการเปลี่ยนไส้กรองให้ได้คุณภาพความปลอดภัย ดังปรากฏตู้น้ำดื่มเถื่อนที่ตั้งตามชุมชนต่างๆ จำนวนมากที่ไม่ได้รับอนุญาตและขาดมาตรฐาน อันอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว
โดยที่ประชุมได้มีข้อสรุปร่วมกันว่า จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ว่า กทม. เป็นประธาน และมีกรรมการจากทุกภาคส่วนในวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 นี้ เพื่อผลักดันแนวทางแก้ปัญหาในระดับนโยบาย โดยจะมีการประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ในการจัดการกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเถื่อน ดีเดย์ดำเนินงานวันที่ 30 เม.ย.2561 นี้ และเสนอให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ที่กำลังดำเนินการออกมาตรฐานทั่วไปให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมีสัญญาณแจ้งเตือนการเปลี่ยนไส้กรอง ให้ออกเป็นมาตรฐานบังคับเพื่อให้การบังคับใช้ได้ผลที่สุด
“เราต้องการกระตุกสังคมและให้หน่วยงานรัฐเข้ามารับผิดชอบในการจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักและระมัดระวังว่ามีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเถื่อนจำนวนมากใน กทม.” รศ.ดร.จิราพร กล่าว
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ตั้งตามชุมชนต่างๆ กว่า 90% เป็นตู้เถื่อนที่ไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีมาตรฐานความปลอดภัย ปัญหานี้เกิดขึ้นมานานหลายสิบปี ถ้ายังปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ต่อไปตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจะกลายเป็นตู้เถื่อนทั้งหมด ในระหว่างนี้จะติดตามการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ 50 เขตของ กทม. ที่อยู่ใกล้ชิดชุมชนและมีอำนาจหน้าที่ดูแล รวมถึงขอให้กรมการค้าภายในควบคุมราคาของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ
“ภาคีเครือข่ายกำหนดให้วันที่ 30 เม.ย. ซึ่งเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภค เป็นวันดีเดย์จัดเดินสายออกไปปิดป้ายตู้เถื่อนในเขต กทม. ให้คนทั่วไปและสาธารณะรับรู้สภาพปัญหาที่ต้องได้แก้ไขเร่งด่วน”
ในขณะที่ตัวแทนจากกรมอนามัยรายงานว่า ปัจจุบัน อยู่ระหว่างยกร่างกฎกระทรวงมาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภคประเทศไทย พ.ศ.... และจะนำเข้าคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดต่อไป เพื่อส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่ต่างๆ
ด้าน นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช. จะประสานสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและเป็นกรรมการเขตสุขภาพกทม. เพื่อเชื่อมการทำงานทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง จะช่วยผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยการทำงานเบื้องต้นในการออกไปติดป้ายตู้น้ำดื่มที่ไม่ได้มาตรฐาน ควรต้องเริ่มในเขต กทม. ที่เต็มใจและพร้อมให้ความร่วมมือก่อนขยายผลต่อไป
นางสำลี ศรีระพุก ผู้ประสานงานโซนเจ้าพระยาคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค กล่าวว่า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจำนวนมากขึ้นสนิม ไส้กรองชำรุดเสียหาย แต่ยังเปิดขายได้อยู่ ซึ่งคนที่อยู่ในพื้นที่พร้อมชี้เป้า ประสานความร่วมมือสำนักงานเขตและภาคีเครือข่ายให้เกิดเครือข่ายเฝ้าระวัง เพื่อให้การทำงานเดินหน้าได้ในระยะยาวและแก้ปัญหาได้จริง
อนึ่ง ในการประชุมฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้นำตัวอย่างผลการวิจัยปี 2558 พบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในเขต กทม. จำนวน 855 ตู้ มีใบอนุญาตประกอบกิจการเพียง ๓ ราย ส่วนใหญ่ไม่มีฉลากระบุวันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรอง ต่อมาในปี 2559 กลับไปสุ่มสำรวจอีกครั้งพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ไม่ได้รับการแก้ไข
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.bangkok.go.th
- 25 views