สธ.ร่วมพัฒนาศักยภาพ “สุขศาลาพระราชทาน” 22 แห่ง ให้บริการแบบผสมผสาน เป็นที่พึ่งของประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารชายแดน และพื้นที่พิเศษ โดยมีโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่เป็นแม่ข่ายและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพี่เลี้ยงช่วยดูแล
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาห้องพยาบาลในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ห่างไกล ให้เป็น“สุขศาลาพระราชทาน” เป็นที่พึ่งด้านสุขภาพให้นักเรียนและประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารชายแดน และพื้นที่พิเศษ ในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งระบบส่งต่อ โดยมีโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่เป็นแม่ข่ายให้คำปรึกษาผ่านระบบวิดีโอ สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือที่จำเป็น พัฒนาศักยภาพบุคลากร รวมทั้งมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นพี่เลี้ยงแก่บุคลากรสุขศาลาพระราชทานนั้น
การจัดตั้ง “สุขศาลาพระราชทาน” เพื่อให้เป็นสถานบริการสาธารณสุข ให้บริการขั้นพื้นฐานแบบผสมผสาน มีทั้ง งานรักษาพยาบาล ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทำคลอดฉุกเฉิน การส่งต่อผู้ป่วยงานส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวังป้องกันโรค เป็นศูนย์การเรียนรู้และสื่อสารสุขภาพ ให้นักเรียนและประชาชน ได้รับข้อมูลข่าวสาร ความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสม และทันเหตุการณ์ สามารถจัดการสุขภาพตนเอง ครอบครัว ชุมชนได้อย่างเหมาะสม และยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์ประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาสุขภาพนักเรียนและชุมชน โดยการนำภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพรมาใช้ดูแลสุขภาพเบื้องต้น
การดำเนินงานของสุขศาลาพระราชทาน มีหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมสนองงานตามพระราชดำริ ประกอบด้วย สำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน บริษัท ทีโอที (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันอาณาจักรไทย รุ่นที่ 46 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและภูมิภาค จัดระบบบริการด้านสุขภาพในสุขศาลาพระราชทานเริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี 2549 ปัจจุบันมี 20 แห่ง ใน 10 จังหวัด 16 อำเภอ 53 หมู่บ้าน 4,073 ครัวเรือน มากกว่า 17,810 คน และอีก 2 แห่งอยู่ระหว่างดำเนินการ คือ ที่ศูนย์การเรียนรู้ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโกแประ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และศูนย์การเรียนรู้ตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุญนาค อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
- 98 views