30 หน่วยงานสานพลังแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัย ร่วมหามาตรการและนโยบายที่เหมาะกับสังคมไทยระบุจำนวนการเกิดเด็กลดลงอย่างต่อเนื่อง ปี 2546 มีเด็กเกิด 8 แสนคน ส่วนปี 2560 เกิดเพียง 6 แสนคน ยิ่งไปกว่านั้นยังด้อยคุณภาพ ทั้งภาวะโภชนาการ สติปัญญา เด็กที่เกิดในภาวะที่พ่อแม่ไม่พร้อม
เมื่อเร็วๆ นี้ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน วิชาการ และภาคประชาสังคมกว่า 30 หน่วยงาน โดยมีสำนักงานสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.) เป็น 1 ในภาคีที่ร่วมจัดงาน สานพลังเพื่ออนาคตประเทศไทย: ยุคเด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัย” นับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อออกแบบนโยบาย มาตรการและนวัตกรรมต่างๆ ที่เหมาะสมกับสังคมไทยในการรับมือกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน กล่าวว่า จากข้อมูลในปี 2546 มีเด็กเกิด 8 แสนคน ส่วนปี 2560 เกิดเพียง 6 แสนคน ซึ่งเห็นอย่างชัดเจนว่าจำนวนการเกิดเด็กลดลงอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นยังด้อยคุณภาพ ทั้งภาวะโภชนาการ สติปัญญา เด็กที่เกิดในภาวะที่พ่อแม่ไม่พร้อม ที่ผ่านมาแม้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมียุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหามากมาย แต่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาอย่างแท้จริงได้ หน่วยงานหลักที่ดูแลสุขภาพ คือ กระทรวงสาธารณสุข การดูแลด้านสวัสดิการและความมั่นคง คือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และยังมีกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย แต่นโยบายหรือการดำเนินงานยังไม่บูรณาการร่วมกันทำให้ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขได้ดีเท่าที่ควร
“วันนี้นับเป็นการเริ่มต้นโครงการที่ดีที่ทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยประสานงานกับทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมมาร่วมกันเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งหากเป็นไปได้ต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง รวมทั้งต้องประเมินและปรับยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
ศาสตราจารย์ดู ซับ คิม
หลังจากนั้นศาสตราจารย์ดู ซับ คิม นายกสมาคมประชากรแห่งเอเชีย ได้กล่าวปาฐากถา เรื่องการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมยุคเด็กเกิดน้อย นโยบาย ทางเลือกการรับมือในอนาคต” ประสบการณ์จากเกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งเคยมีปัญหาการเกิดที่น้อยลงอย่างรวดเร็วหลังจากประสบเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 พบว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้ภาวะเจริญพันธุ์ของทั้ง 2 ประเทศต่ำลง เนื่องจากเศรษฐกิจย่ำแย่และความไม่มั่นคงในตลาดแรงงาน มีความเสมอภาคทางเพศเพิ่มขึ้น มีความมุ่งมั่นต่อจุดมุ่งหมายในชีวิตที่ไม่ใช่เรื่องการมีลูกเท่านั้น ความยุ่งยากในการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการเลี้ยงดูบุตร ที่อยู่อาศัยมีราคาสูงขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายของการศึกษาบุตรที่สูงมาก ส่วนปัจจัยด้านประชากรพบว่า มีการเลื่อนอายุการแต่งงาน การครองโสด และการหย่าร้างเพิ่มขึ้น มีช่องว่างที่ขยายกว้างขึ้นระหว่างความต้องการมีบุตรและการมีบุตรจริง
ดังนั้นจึงมีการปรับนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ประชากรในเกาหลีมีบุตรเพิ่มขึ้น ในปี 2549 และไต้หวันเริ่มมีนโยบายดังกล่าวในปี 2551 แต่นโยบายดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ จึงต้องมีนโยบายเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการมีบุตร ได้แก่ การให้เงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือให้พ่อแม่สามารถทำงานและเลี้ยงดูบุตรได้พร้อมๆ กัน โดยเพิ่มสถานที่รับเลี้ยงเด็ก เพิ่มการกำหนดเวลาลาคลอดและการเลี้ยงดูบุตรให้ยาวขึ้น ส่งเสริมสนับสนุนวัฒนธรรมที่เป็นมิตรกับครอบครัวและความเสมอภาคทางเพศ รวมทั้งการขยายความช่วยเหลือในการมีบุตรและการให้กำเนิดบุตร โดยส่งเสริมการดูแลระหว่างตั้งครรภ์ ให้บริการบุคลากรช่วยเหลือหลังคลอดบุตร และให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ที่มีบุตรยากด้วย
จากผลการสำรวจในโครงการวิจัยระดับประเทศ “โครงการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและความอยู่ดีมีสุขในบริบทสังคมสูงวัย ยุคเด็กเกิดน้อย” โดย ผศ.ดร.วิราภรณ์ โพธิศิริ จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า จากการเก็บข้อมูลในปี 2559 เปรียบเทียบกับปี 2544 ซึ่งห่างกัน 15 ปี พบว่า ผู้หญิงไทย อายุ 15-49 ปี มีบุตรเฉลี่ย 1.69 คน ในขณะที่ในปี 2444 เฉลี่ย 1.8 คน และในกรุงเทพมหานครมีบุตรเฉลี่ย 1.06 คนเท่านั้น
ส่วนอายุการสมรสเมื่อ 15 ปีที่แล้วเฉลี่ยอายุประมาณ 22.7 ปี แต่ในปี 2559 สมรสเฉลี่ยอายุ 23.6 ปี และมีลูกคนแรกเฉลี่ย 23.5 ปี ในกรุงเทพมหานครมีลูกคนแรกเฉลี่ย 25 ปี บ่งบอกการเลื่อนอายุมีบุตรที่อายุสูงขึ้น
นอกจากนี้ยังพบว่ามีประชากรที่มีบุตรยากประมาณiร้อยละ 16 รวมทั้งทัศนคติที่เปลี่ยนไป โดยผู้หญิงร้อยละ 75 มองว่าไม่ต้องมีลูกก็มีชีวิตที่น่าพอใจได้ ซึ่งต่างจากเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ที่มีทัศนคติดังกล่าวร้อยละ 53 และทัศนคติเกี่ยวกับการแต่งงานที่มองว่าไม่มีความจำเป็นต้องแต่งงาน ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนให้ครอบครัวมีบุตรในภาวะที่สถานการณ์การเกิดของเด็กที่น้อยลงในปัจจุบัน
- 197 views