สรพ.เตรียมชง คกก. THIP พิจารณาข้อเสนอราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ บรรจุ “การลดอัตราการผ่าคลอดใน รพ.” เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดรับรองคุณภาพ รพ. เผยอดีตเคยมีข้อเสนอนี้มาแล้ว แต่กรรมการมีความเห็นต่างไม่ได้ข้อสรุป พร้อมเผย สรพ.อยู่ระหว่างขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาคลอดทั้งกระบวนการ ร่วมมือระดับจังหวัด หลังสถานการณ์เปลี่ยน หญิงตั้งครรภ์แห่คลอดกับผู้เชี่ยวชาญ ทำแพทย์ พยาบาลรุ่นใหม่ขาดทักษะทำคลอด ประกอบกับกระแสการฟ้อง ส่งผล รพช.ไม่ทำคลอด

นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี

นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) (องค์การมหาชน) กล่าวถึงกรณีประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยได้เรียกร้องให้ สรพ.คุมมาตรฐานโรงพยาบาล เพื่อลดอัตราการผ่าท้องคลอดในประเทศไทย ว่า เรื่องนี้ที่ได้มีการประชุมความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ กรมอนามัย และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รวมถึง สรพ.เพื่อขับเคลื่อนเกี่ยวกับห้องทำคลอดโดยรวม โดยมีเรื่องการลดอัตราการผ่าท้องคลองเป็นประเด็นหนึ่ง และ สรพ.เองให้ความสนใจ ในการรับรองมาตรฐานและคุณภาพของสถานพยาบาล ได้ดำเนินการผ่าน “โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเปรียบเทียบวัดระดับคุณภาพโรงพยาบาล” (Thailand Hospital Indicator Project : THIP) เพื่อกำหนดตัวชี้วัดคุณภาพของโรงพยาบาล โดยมีคณะกรรมการ THIP ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากคณะแพทยศาสตร์ ผู้แทนโรงพยาบาลสังกัดต่างๆ เป็นผู้พิจารณา

ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนประเด็นการลดอัตราการผ่าท้องคลอดได้เคยเสนอเป็นหนึ่งในตัวชี้วัด THIP มาแล้ว แต่ขณะนั้นยังมีผู้ที่เห็นด้วยและผู้เห็นต่าง จึงยังไม่มีข้อสรุปแต่เมื่อมีข้อเสนอจากทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์อีกครั้ง ทาง สรพ.จะนำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการ THIP เพื่อพิจารณาบรรจุเป็นตัวชี้วัดอีกครั้ง

ทั้งนี้ต้องชี้แจงว่าในการกำหนดตัวชี้วัดคุณภาพโรงพยาบาล สรพ.ไม่ได้เป็นหน่วยงานตัดสินได้ว่าจะนำเรื่องใดบรรจุเป็นตัวชี้วัดคุณภาพโรงพยาบาล รวมถึงการลดอัตราการผ่าท้องคลอด ขึ้นอยู่คณะกรรมการ THIP จะพิจารณา และอาจต้องใช้เวลาหลายเดือน เนื่องจากการพิจารณานอกจากต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนแล้ว ยังต้องมีการพูดคุย วิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆ อย่างรอบด้านก่อน โดย สรพ.ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพโดยตรงและคงไม่ได้เห็นแย้งอะไรกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญโดยตรง แต่ในมุมกลับเรื่องนี้อาจมีแพทย์ที่มีความเห็นแตกต่าง ดังนั้นสิ่งที่ สรพ.จะนำไปต่อยอด คือการนำตัวเลขอัตราการผ่าท้องคลอดมาพูดคุย เรียนรู้ และหาวิธีจัดการ โดยชวนโรงพยาบาลมาดำเนินการร่วมกัน เป็นการใช้ตัวเลขเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเมื่อภายหลังหากเรื่องนี้ถูกบรรจุใน THIP โรงพยาบาลก็จะนำเรื่องผ่าตัดคลอดมาดำเนินการได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเพื่อรับรองคุณภาพโรงพยาบาล

“การควบคุมให้โรงพยาบาลลดการผ่าคลอด สรพ.คงไม่มีอำนาจขนาดนั้น และในการตรวจรับรองคุณภาพโรงพยาบาล จะเป็นการดูภาพรวมของโรงพยาบาลทั้งหมดที่ประกอบด้วยหลายตัวชี้วัด ไม่ได้เป็นการดูเฉพาะรายโรคเพื่อให้การรับรอง ดังนั้นหากโรงพยาบาลใดมีผลงานตามตัวชี้วัดดีหมด เพียงแต่อัตราผ่าคลอดยังสูง การจะชี้ว่าโรงพยาบาลนั้นไม่มีกระบวนการคุณภาพคงไม่ใช่และเป็นเรื่องสุดขั้ว ฉะนั้นการลดอัตราการผ่าคลองจะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดในการประเมิณรับรองคุณภาพเท่านั้น คงไม่ได้มีการเจาะจงเฉพาะโรคเพื่อให้การรับรอง” ผอ.สรพ. กล่าว

นพ.กิตตินันท์ กล่าวต่อว่า จากที่กล่าวข้างต้น ขณะนี้ สรพ.ได้พยายามขับเคลื่อนเรื่องการคลอดทั้งกระบวนการ เพราะสถานการณ์การคลอดในขณะนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากอดีตที่มีเด็กเกิดเยอะ แพทย์และพยาบาลมีจำนวนจำกัด โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ยังมีการทำคลอดและการผ่าท้องคลอดอยู่ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการ แต่สถานการณ์การคลอดปัจจุบัน นอกจากอัตราการเกิดที่ลดน้อยลงแล้ว หญิงตั้งครรภ์จำนวนไม่น้อยยังเลือกคลอดกับสูตินรีแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงที่ส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ ส่งผลต่อทักษะและควาชำนาญการคลอดและการผ่าคลอดของแพทย์และพยาบาลรุ่นใหม่ ด้วยเหตุนี้ระบบการคลอดโดยรวมจึงต้องมีการปรับให้เข้ากับยุคสมัย ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องทดลองทำดูก่อนเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งที่ สรพ.ทำอยู่คือการชวนจังหวัดต่างๆ ในการวางรูปแบบและปรับการจัดการคลอดทั้งจังหวัดในบริบทที่เหมะสม

เรื่องการคลอดเป็นปัญหามานานและค่อยๆ สะสมเพิ่มขึ้น สมัยที่ตนเป็นแพทย์ รพช.จะถูกฝึกให้ทำคลอด ทั้งยังเป็นทักษะที่แพทย์จบใหม่ต้องทำได้ แต่ช่วงหลังด้วยความเจริญด้านการแพทย์และการคมนาคมที่ดีขึ้น ประกอบกับความคาดหวังที่เพิ่มขึ้น รวมถึงกระแสการฟ้องร้อง โดยเฉพาะกรณีการคลอดที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ การทำคลอดจึงต้องมีความพร้อมทั้งวิสัญญีแพทย์และเลือดสำรองที่ต้องเพียงพอ รพช.ที่ส่วนใหญ่ไม่มีวิสัญญีแพทย์จึงไม่ทำคลอดและเลือกที่จะส่งต่อไปทำคลอดที่โรงพยาบาลใหญ่แทน จึงส่งผลให้แพทย์ใน รพช.ขาดทักษะทำคลอด เหล่านี้เป็นปัญหาที่ต้องมาพูดคุยเพื่อหาทางออก ซึ่ง สรพ.เป็นสื่อกลางเพื่อหารูปแบบกระตุ้นให้เกิดการแก้ไขระดับจังหวัด

ตัวอย่างรูปแบบหนึ่งในการแก้ปัญหาการคลอด โดยในจังหวัดใหญ่ๆ จะมีการกระจายบริการตามโหนดบริการ โดยโหนดที่เป็น รพช.ขนาดใหญ่ จะมีแผนการทำคลอดและผ่าท้องคลอดที่ชัดเจน ทั้งการเตรียมความพร้อม การจัดการหากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาความไวในการทำคลอด เหล่านี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการคลอดที่ดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประธานราชวิทยาลัยสูติฯ เรียกร้อง สรพ.คุมมาตรฐาน รพ. เพื่อ ‘ลดการผ่าคลอดที่ไม่จำเป็น’

หญิงไทยผ่าคลอดสูงอันดับ 2 ของเอเชียรองจากจีน เร่งรณรงค์ลด ‘ผ่าคลอด’ ที่ไม่จำเป็น