สรพ.ลงพื้นที่เชียงราย ถอดบทเรียน รพ.คุณภาพมาตรฐาน HA ตามรอยระบบการจัดการเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ด้าน “รอง ผอ.รพ.เชียงรายฯ” เผยหัวใจความสำเร็จ "คน-สถานที่-ตัวระบบรองรับสถานการณ์" ต้องพร้อมลุยพัฒนางานภาวะฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง สร้างเครือข่ายความปลอดภัยคลอบคลุมพื้นที่ล้านนา เชียงราย-พะเยา ทันสมัยที่สุดในประเทศด้วยระบบ AOC ติดตั้งในรถพยาบาลชุมชนทุกคัน ช่วยส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่สามารถดูแลทำการรักษาตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มโอกาสรอดชีวิตปลอดภัยสูงสุด
นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี
นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24-25 มกราคม 2562 สถาบันรับรองคุณภาพและสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) หรือ สรพ.นำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชนศึกษาดูงานการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลมาตรฐาน HA ในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย ได้แก่ โรงพยาบาลแม่สาย และโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อศึกษาดูงานโรงพยาบาลที่ผ่านการประเมินและรับรองกระบวนการคุณภาพมาตรฐาน HA ซึ่งจังหวัดเชียงรายได้มีการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน หรือการจัดการเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ที่เป็นระบบที่เอื้อต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นอย่างดียิ่ง
โดยโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งนี้ ผ่านการประเมินและรับรองคุณภาพมาตรฐาน HA จาก สรพ.แล้ว ทั้งสามารถบริหารจัดการงานในด้านต่างๆ ได้ดี ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด เช่น มีระบบการจัดการผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างมีระบบ เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะในกรณีของโค้ชและนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่า 13 คน ที่ทำให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมในการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินในภาวะเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ส่งผลให้น้องๆ ทีมหมูป่าและโค้ชได้รับการส่งต่อและเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วและทันท่วงที
ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองกระบวนการคุณภาพมาตรฐาน HA ทั้งสิ้น 782 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 66.04 ของโรงพยาบาลทั้งหมด เป็นโรงพยาบาลภาครัฐ 699 แห่ง และภาคเอกชน 83 แห่ง โดยเปอร์เซ็นต์การรับรองประกอบด้วย ประเภทโรงพยาบาลชุมชนร้อยละ 77.85 โรงพยาบาลทั่วไป ร้อยละ 88.54 โรงพยาบาลศูนย์ ร้อยละ 87.88 โรงพยาบาลรัฐอื่นๆ ในสังกัด สธ.ร้อยละ 73.44 โรงเรียนแพทย์/โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ร้อยละ 92.31 ขั้น 3 รวมโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองขั้นก้าวหน้ากรุงเทพมหานครสังกัด กทม.ร้อยละ 87.50
นพ.ศิริศักดิ์ นันทะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สาย จ.เชียงราย กล่าวว่า โรงพยาบาลมีขนาดกว่า 100 เตียง ให้บริการผู้ป่วยทั้งชาวไทยและผู้รับบริการจากประเทศเพื่อนบ้าน มุ่งเน้นเรื่องการควบคุมโรคติดต่อชายแดนตามยุทธศาสตร์ของ อ.แม่สาย ซึ่งมี 3 โรค ประกอบด้วย HIV, วัณโรค และไข้เลือดออก ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลได้มีการประสานงานระหว่างต่างประเทศเพื่อสร้างระบบการรักษา ระบบการควบคุม และระบบการส่งต่อผู้ป่วย ส่วนใหญ่ทางโรงพยาบาลใช้ระบบการส่งต่อระหว่างประเทศ หากคนไข้หนักจะส่งไปโรงพยาบาลเชียงราย หรือส่งต่อระหว่างโรงพยาบาลชุมชนกับโรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งขณะนี้ได้พัฒนาระบบส่งต่ออย่างต่อเนื่องจนเป็นระบบมาตรฐาน
นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า กระบวนการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลเชียงรายอยู่ภายใต้กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพระบบบริการภายใต้มาตรฐานในระบบ HA โดยมีโรงพยาบาลในสังกัด18 แห่ง ผ่านโรงพยาบาลมาตรฐาน HA ขั้น 3 จำนวน 17 แห่ง และอีก 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลดอยหลวง โดยโรงพยาบาลเชียงรายฯ เป็นศูนย์พี่เลี้ยงใหญ่ทางด้านวิชาการ เชื่อมข้อมูลโดยตรงกับ สรพ. และโรงพยาบาลในสังกัด สร้างกิจกรรมการเรียนรู้ กระตุ้น ย่อยข้อมูลสื่อสาร สรพ.จากตำราวิชาการกำกับหลักสูตรรายงานผลเข้าสู่โรงพยาบาล และเป็นพี่เลี้ยงช่วยส่งผลงาน HA ฟอรั่มประจำปี มาสู่การทำความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เข้าใจง่ายและนำไปใช้ในการทำงานได้โดยตรง โดยมีการติดตามดูแลช่วยเหลือเมื่อมีการร้องขอ เช่น โรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กซึ่ งในส่วนนี้จะทำหน้าที่ในการดูแลเพื่อให้เกิดพลังและไม่รู้สึกถูกทอดทิ้งเพื่อการบริการได้มีคุณภาพ ซึ่งท้ายที่สุดจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนซึ่งศูนย์ HACC ยังดูแลรวมทั้งจังหวัดพะเยาด้วย
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวถึงการถอดบทเรียนระบบการรับส่งต่อผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพว่า ต้องเตรียมความพร้อม คน สถานที่ ตัวระบบรองรับสถานการณ์ รวมทั้งเป็นการทำงานร่วมมือกันอย่างบูรณาการของหลายทีม ไม่ว่าจะเป็น ทีม แพทย์ พยาบาล ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่แต่ละภาคส่วน มิใช่แค่บุคลากรด้าน สธ.เพียงอย่างเดียวในการดำเนินการภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกัน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ถือเป็น รพ.ศูนย์ที่ดูแลทั้งจังหวัด ขณะเดียวกันในพื้นที่ เชียงราย พะเยา โดยขณะนี้มีระบบศูนย์ AOC หรือระบบบริหารจัดการพยาบาลแบบรวมศูนย์ (Ambulance Operation Center) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการสรุปถอดบทเรียนปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการรีเฟอร์ส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่ จ.เชียงราย พะเยา ประกอบกับเป็นช่วงที่พี่ตูน บอดี้แสลม ได้บริจาคเงินสำหรับซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ จึงนำงบประมาณตรงนั้น มาติดตั้งระบบ AOC ซึ่งกรณีฉุกเฉินหมูป่า 13 ชีวิตก็ดำเนินการโดยผ่านระบบศูนย์ AOC เช่นกัน ซึ่งมีระบบพร้อมคอยช่วยเหลือเด็กๆ และได้ส่งอาการไปยังศูนย์ AOC รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์เพื่อประเมินอาการและเตรียมรับมือล่วงหน้า และถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญจากเคสหมูป่าที่เราได้ดำเนินการปฏิบัติระบบศูนย์ AOCของโรงพยาบาล
"เราติดตั้งระบบ AOC ในรถพยาบาลชุมชนในจังหวัดเชียงราย และในล็อต 2 จะมีการติดตั้งในรถพยาบาลชุมชนของจังหวัดพะเยาด้วยทั้งจังหวัดเช่นเดียวกัน ซึ่งภายในรถจะมีระบบกล้องผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ติดต่อกับศูนย์ AOC ที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งสามารถเห็นภาพผู้ป่วย ตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทาง ทั้งอาการของผู้ป่วย ก็จะมีทีมปรึกษา ให้คำแนะนำ เจ้าหน้าที่ในรถให้สามารถดำเนินการแก้ไขได้ทันทีเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยอย่างรวดเร็วที่สุดผ่านระบบสื่อสารด้วยภาพและเสียงแบบเรียลไทม์ ซึ่งสามารถเตรียมการรักษา ได้ถูกต้องทันท่วงที รวมทั้งเราสามารถควบคุม ติดตาม การขับรถของพนักงานขับรถได้ เช่นความเร็ว ซึ่งถือเป็นระบบที่ทันสมัยและเพื่อสร้างความปลอดภัย โอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้มากที่สุด" นพ.สมศักดิ์ ระบุ
- 139 views