ตามที่ คณะกรรมาธิการสาธารณสุขสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับทราบและเห็นความสำคัญของผลกระทบต่อการรักษาด้านทันตกรรมของประชาชนอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้างจากการที่มีการเรียกร้องขอความเป็นธรรมของวิชาชีพทันตแพทย์ แพทย์และรวมถึงวิชาชีพการแพทย์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้งาน และเกี่ยวข้องกับเครื่องกำเนิดรังสีทางการแพทย์ที่ใช้ช่วยในการวินิจฉัยโรคเพื่อการรักษาโรคให้ดีและมีประสิทธิภาพสูงสุด

โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นอันเนื่องมาจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดตั้งแต่ขั้นตอนการร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่ง ทันตแพทยสภาในฐานะสภาวิชาชีพ ในขณะนั้นยังไม่มีโอกาสได้รับทราบ และไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมและไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการเรียกร้องความเป็นธรรมถึงการถูกลิดรอนสิทธิตาม มาตรา ๗๗ ของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงเป็นที่มาของการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นถึงผลกระทบต่อกฎหมายฉบับนี้ ในวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมาที่โรงแรมมิราเคิลโดยคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้จัดมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีก ๔ ครั้งตามต่างจังหวัดและภูมิภาค (กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี พิษณุโลก ขอนแก่น สงขลา) ซึ่งมีกลุ่มวิชาชีพการแพทย์ กลุ่มโรงพยาบาล มาร่วมแสดงความคิดเห็น และแจ้งถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

ในส่วนของกระบวนการแก้ปัญหาหลักๆ นั้น จะเห็นว่ามีความคืบหน้าเป็นอันมาก โดยเฉพาะในร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ มาตรา ๔ ที่ให้ยกเว้นเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์ที่ไม่มีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งหากสามารถดำเนินการ ตามร่างแก้ไขดังกล่าวได้ จะถือเป็นการหาทางออกที่ดีและ แก้ปัญหาผลกระทบได้ตรงจุด และสอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขที่ตอนนี้ มีแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจนไปในทิศทางเดียวกัน

โดยล่าสุด รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำกฎหมายรอง โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. ๒๕๔๑ และ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ ๒๕๓๔ จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งมั่นใจและเห็นได้ว่า การควบคุมกำกับการใช้เครื่องเอกซเรย์ ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นไปอย่างครบวงจร เป็นไปตามมาตรฐาน IAEA และไม่ด้อยไปกว่า ปส. ซึ่งเรื่องนี้จะมีการนำเข้าพิจารณาในกระบวนแก้กฎหมายของ สนช. ต่อไป

ขณะที่ในส่วนของกระบวนการแก้กฎหมาย โดยประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ได้รวบรวมรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวนกว่า ๒๐ ราย ยื่นเสนอขอแก้ไข พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยเสนอร่างแก้ไขต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ จุดนึ้จึงถือได้ว่า กระบวนการแก้กฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ทั้งนี้ กลุ่มวิชาชีพทันตแพทย์ และกลุ่มการแพทย์หลายๆ ส่วนยังมีกังวลต่อร่างแก้ไขฉบับนี้ ในส่วนของ มาตรา ๑๑, ๑๒, ๑๓ ที่มีการเขียนเพิ่มขึ้นมา เพราะจากภาพรวมของร่างแก้ไขกฎหมายนั้นในส่วนเนื้อหาหลักที่สร้างผลกระทบในส่วนเกี่ยวข้องกับเครื่องกำเนิดรังสีทางการแพทย์ มีแนวทางที่ตรงกันจากหลายฝ่ายที่จะกำหนดให้ไม่อยู่ใต้การบังคับของพ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙

หลายฝ่ายจึงเสนอให้ตัดเนื้อหาในส่วน ร่างมาตรา ๑๑, ๑๒, ๑๓ ออก เนื่องจากหากพิจารณาเนื้อหาแล้ว ร่างเนื้อหาในส่วนนี้ มีความขัดแย้งกับส่วนอื่น และขัดแย้งกับแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบอย่างชัดเจน ตามรายละเอียดดังนี้

"มาตรา ๑๑ ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสี ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับใช้ในทางการแพทย์ ให้เครื่องกำเนิดรังสีที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับใช้เพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ และไม่มีวัสดุกัมมันตรังสี เป็นส่วนประกอบ และใช้งานในสถานพยาบาล ที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุม ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕ แห่งพระราชพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

เป็นเครื่องกำเนิดรังสีที่ต้องแจ้งการครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีต่อเลขาธิการ และให้นำมาตรา ๒๖/๑ วรรคสาม แห่งพระราชพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๙๑ แห่ง พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ และบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้อง มาใช้บังคับไปพลางก่อน

มาตรา ๑๒ ให้ใบอนุญาตเกี่ยวกับการใช้พลังงานปรมาณูจากเครื่องกำเนิดรังสีที่ ที่ได้ให้ไว้ตามพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ และใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองและใช้เครื่องกำเนิดรังสีที่ได้ให้ไว้ตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ สำหรับเครื่องกำเนิดรังสีที่มีลักษณะตามมาตรา ๑๑ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังมีผลใช้บังคับอยู่ เป็นการแจ้งการครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีตามมาตรา ๑๑

มาตรา ๑๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจออกกฎกระทรวงตามมาตรา ๒๖/๑ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา ๙๑ แห่งพระราชพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อใช้บังคับกับเครื่องกำเนิดรังสีตามมาตรา ๑๑

ขอยกตัวอย่างปัญหา เช่น ตรงส่วนท้ายร่างมาตรา ๑๑ ที่เขียนว่า "เป็นเครื่องกำเนิดรังสีที่ต้องแจ้งการครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีต่อเลขาธิการและ ให้นำมาตรา ๒๖/๑ วรรคสามแห่ง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.มาตรา ๙๑ แห่ง พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ และบทกำหนดลงโทษที่เกี่ยวข้อง มาใช้บังคับไปพลางก่อน

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแล้ว ส่วนใหญ่มีเห็นพ้องกันว่า นอกจากจะไม่ได้ชะลอปัญหาผลกระทบ และปัญหาความเป็นธรรมแล้ว กลับทำให้ปัญหาและผลกระทบรวมถึงข้อติดขัดต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ รุนแรงมากขึ้น เพราะแทนที่จะชะลอปัญหากลับกลายเป็นการบีบให้ทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ต้องเข้าเผชิญปัญหาอย่างรีบเร่งแทน เพราะเป็นการบังคับ ให้ผู้ร้องและได้รับผลกระทบ ถูกบังคับให้ต้องรีบดำเนินการต่างๆ ในเวลาที่รีบเร่งและจำกัดมากขึ้น

เนื่องจากหากอ้างถึงช่วงเวลาระหว่างการแก้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งน่าจะใช้เวลาไม่นานมากนัก ซึ่งไม่น่าทำ เพราะโดยทั่วไปน่าจะให้มีการปฏิบัติตามเดิมไปก่อนระหว่างการแก้ไ ขพ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งทาง ปธ.กมธ.สธ.สนช.ได้เคยได้ให้ความเห็นว่าไม่น่าจะใช้เวลานานนัก เช่นการดำเนินการตรวจมาตรฐานและสถานที่ก็สามารถทยอยตรวจโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตามเดิมซึ่งจะเหมาะสมกว่า เพราะเป็นแนวทางเดิมที่ปฏิบัติและดีอยู่แล้ว และภายใต้ความรีบเร่งยังบีบให้เกิดความวิตกกังวลที่จะต้องมาเสี่ยงรับโทษอย่างที่ไม่ควรเป็นเพราะเป็นการใช้เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อช่วยรักษาและเป็นประโยชน์ต่อคนไข้และปลอดภัยเสมอมา โทษที่รุนแรง ไม่เหมาะสมกับเหตุที่นำการควบคุมมาใช้กับเครื่องมือแพทย์อย่างเครื่องเอกซเรย์ฟันและเอกซเรย์ทางการแพทย์ เช่น โทษจำคุก ๒ ปีหรือ ๕ ปี จนถึง ๑๐ ปี และโทษปรับตั้งแต่ ๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือ ๕๐๐,๐๐๐ บาท ถึง ๑,๐๐๐,๐๐๐บาท

การที่สินบน นำจับ อยู่ในอัตราสูงสุดถึง 80% ซึ่งง่ายและเกิดแรงจูงใจสูง สุ่มเสี่ยงต่อการแอบอ้างเพื่อหาประโยชน์มิชอบเป็นอย่างมาก (ทั้งยังไม่น่าจะเหมาะสมและผิดหลักธรรมาภิบาลเป็นอย่างยิ่ง) ฉะนั้น หลายๆ ส่วนจึงมีความกังวลว่าการมีมาตรา ๑๑ จะยิ่งทำให้สภาวะการแก้ปัญหาเลวร้ายขึ้น และกลับไปอยู่ในวังวนเหมือนเดิม

ในส่วนมาตรา ๑๒ หลายคนตีความแล้ว พิจารณาได้ว่าเป็นการ สำทับว่าใบอนุญาตเก่า ก่อนหน้า พ.ร.บ.ประกาศใช้ ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ เช่นเดียวกับเครื่องกำเนิดรังสีที่ยังไม่ได้เข้าขออนุญาตก่อนหน้านี้ตามพ.ร.บ.นิวเคลียร์ฉบับใหมี่เป็นปัญหาก่อนหน้านี้ ซึ่งในอดีตจนถึงปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการทยอยตรวจเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมและสถานที่โดยอิงรอบการขอต่ออายุของคลินิกหรือสถานบริการ และคลินิกที่เปิดใหม่ก็จะทยอยตรวจจนครบตามเกณฑ์เช่นเดียวกัน ดังนั้นจะเห็นชัดว่านอกจากไม่ได้แก้ผลกระทบอะไรเลย ยังตีความได้ว่าต้องถูกบีบอย่างรีบเร่งที่จะต้องให้ยอมรับสภาพปัญหาและบทลงโทษที่ไม่เป็นธรรมเร็วขึ้น และรุนแรงขึ้นไปอีก

ส่วนร่างตาม มาตรา ๑๓ นั้นหลายๆ ท่านพยายามแปลความหมายที่ชัดเจน หากอ่านคร่าวๆ จะเหมือนให้ทั้ง รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ รมว.กระทรวงสาธารณสุขรักษาการร่วมกัน แต่การปฏิบัติ ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นได้ เนื่องจากท้ายของมาตรา ๑๓ กลับเขียนว่า "ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน" ซึ่งตรงนี้ ในกฎหมายแต่ละฉบับก็มักจะมีความชัดเจนอยู่แล้ว ในการกำหนดให้ใครหรือ รมต.ท่านไหนเป็นผู้มีอำนาจบังคับกฎหมายฉบับนั้น ๆ อยู่แล้วอย่างชัดเจน

เช่นใน พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ ฉบับนี้ก็เช่นกัน เช่น ในมาตรา ๕ ให้ รัฐมนตรีว่าการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรักษาการพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมถึงออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้ ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมหรือกำหนดกิจกรรมอื่น ทั้งนี้เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ......

ดังนั้น การร่างแก้ไขตาม มาตรา ๑๓ จึงไม่น่าจะมีประโยชน์หรือ กำหนดอำนาจหน้าที่อะไรได้เพิ่มเติมเลย

เพราะในแต่ พระราชบัญญัติก็จะมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ข้อร่างนี้จึงไม่น่ามีประโยชน์ในการแก้ปัญหาดังกล่าวเพิ่มเติมมากนัก

จากข้อกังวลที่กล่าวมานั้น และจากการพิจารณาร่างเนื้อหาในร่างมาตรา ๑๑, ๑๒, ๑๓ หลายฝ่ายจึงขอให้ทางคณะกรรมาธิการสาธารณสุขสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ตัดส่วนนี้ออก (ร่าง มาตรา ๑๑ ,๑๒ และ ๑๓) เพื่อไม่ให้กลับมามีผลกระทบเป็นวังวน ทั้งที่มีการแก้ไขร่างกฎหมายพระราชบัญญัติแล้ว

ผม และเพื่อนทันตแพทย์ รวมถึงเพื่อนร่วมวิชาชีพทางการแพทย์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายจะมีความจริงใจ ในการช่วยกันแก้ไขปัญหานี้อย่างรอบคอบที่สุดเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและประชาชนอย่างแท้จริง อีกทั้งปัญหานี้ ทางสมาชิก สนช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็เคยให้ข่าวไว้แต่แรกแล้วว่า ในขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายนั้น ไม่มีเจตนาหรือใครทราบว่า จะนำ พ.ร.บ.นิวเคลียร์ฉบับนี้มาบังคับกับเครื่องกำเนิดรังสี หรือ เอกซเรย์ทางการแพทย์ ดังข่าวใน Health Focus ตั้งแต่เดือน มีนาคม ๒๕๖๐

ทั้งนี้ผมและกลุ่มเพื่อนวิชาชีพทางการแพทย์ ขอขอบคุณ ปธ.กมธ.สธ.สนช นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ และสมาชิก สนช.ทุกท่านที่กรุณารับฟังผลกระทบ ข้อปัญหา ตลอดจนความเดือดร้อน ความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากพวกเราทุกคนเป็นอย่างดี และ ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาจนมีความคืบหน้า ชัดเจน จนถึงขั้นตอนการลงชื่อ สมาชิก สนช. ๒๐ ท่าน ร่วมลงชื่อเพื่อขอแก้ไข พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙

ขอให้กำลังใจทุกท่านและขอให้การแก้ไข พ.ร.บ.นี้ สำเร็จเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดครับ ทุกคนจะได้เร่งเดินหน้าพัฒนางานอื่น ๆ เพื่อส่วนรวมและประชาชนต่อไป

ขอบคุณครับ

ทันตแพทย์ชาญชัย ทนต์ประเสริฐเวช ๑๖/๒/๒๕๖๑

ทันตแพทย์ชาญชัย ทนต์ประเสริฐเวช