จากข่าววันที่ 30 ต.ค.2560 และ 1 พ.ย.2560 ที่ผ่านมา ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลขุมชนแห่งประเทศไทย นพ.สรลักษณ์ มิ่งไทยสงค์ ผู้อำนวยการ รพ.วังน้ำเปรี้ยว ได้ทำหนังสือคัดค้าน พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ต่อ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, สนช.และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ถึงผลกระทบกับโรงพยาบาลชุมชนที่อาจจะต้องปิดห้องเอกซเรย์ เพื่อมิให้ขัดกับกฎหมายนี้ ทั้งกรณีไม่สามารถที่จะหา RSO มาเฝ้า รพ.ได้24 ชั่วโมงหรือหาบุคลากรที่จะมาเป็น RSO มิฉะนั้นจะมีความผิดจำคุก 5 ปีปรับ 5 แสนบาท และข้อปฏิบัติอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนแก่การรักษาพยาบาลของประชาชนไปถึงระดับชุมชนเป็นวงกว้างทั่วประเทศ
อนึ่งเรื่องความไม่เหมาะสมในการนำ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฯ มาเหมารวมกับเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์หรือเอกซเรย์ทันตกรรมนั้น มีการแย้งในเรื่องนี้กับทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) รวมถึงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งกำกับ ปส.ไปหลายครั้งในหลายๆ วาระโดยเฉพาะวิธีการควบคุม รวมถึงโทษรุนแรงจำคุก 2 ปี, 5 ปี ถึง 10 ปี และปรับ 2 แสนบาท, 5 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท ว่าเป็นวิธีการควบคุมที่ไม่เหมาะสมแต่ก็มีคำชี้แจงจากหน่วยงานอธิบายว่า "กรณีฝ่าฝืนครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีโดยไม่ขอรับใบอนุญาต คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ขอรับใบอนุญาตในกฎหมายอื่นที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา73 ผู้ใดครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่3โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน2ปี หรือปรับไม่เกิน200000บาท" (4 พ.ค.2560 Facebook ประชาสัมพันธ์ ปส.)
เมื่อทราบคำอธิบายเช่นนั้น ผมและเพื่อนทันตแพทย์ คงต้องย้อนกลับถามว่า การเอาเครื่องเอกซเรย์ฟันที่มีประวัติการใช้งานปลอดภัยสูงสุดและไม่เคยมีอุบัติการณ์ อุบัติเหตุทำให้เกิดอันตรายใดๆ เลยรวมถึงการนำเอกซเรย์การแพทย์ซึ่งเป็นเครื่องมือการแพทย์ที่นำมาข่วยในการวินิจฉัยโรค มาเทียบเคียงและกำหนดโทษเช่นเดียวกันกับโทษของ "วัตถุอันตราย" ตาม พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ?
จะเห็นว่า เครื่องเอกซเรย์ฟันหรือเอกซเรย์วินิจฉัยการแพทย์ ไม่ได้อยู่ใน 10 กลุ่มวัตถุอันตรายที่ระบุไว้ใบ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และเมื่อเอกซเรย์ฟันและเอกซเรย์การแพทย์ไม่ใช่ "วัตถุอันตราย" ดังนั้นการจะเหมารวม เทียบเคียงกล่าวโทษจึงไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมอย่างยิ่ง
"แต่ใน พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ฉบับนี้ มีวัตถุกัมมันตรังสีที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานนิวเคลียร์ที่จัดเป็นวัตถอันตรายกลุ่มที่ 6"
ดังนั้นหากหลักการ ความคิดพื้นฐาน ในการลงโทษตาม พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ2559 อิงตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 แล้ว (ซึ่งเมื่อลองเทียบเคียงกันหลายๆ มาตรา เช่น มาตรา 73, มาตรา 89 และอีกหลายมาตราก็จะพบหลายๆ จุดมากที่มีความคล้ายคลึงกันจริง)
ดังนั้นจึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเหมารวม เครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม เครื่องเอกซเรย์การแพทย์ (ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ ได้รับการดูแลควบคุมตาม พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551) ไปบังคับรวมกับเรื่องของพลังงานนิวเคลียร์หรือวัตถุกัมมันตรังสี
มิฉะนั้นก็อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความสับสนในการจัดการ การดูแลควบคุมเกินเหตุ เกินจำเป็น และทำให้เกิดความกังวล ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งกับแพทย์ ทันตแพทย์ โรงพยาบาล ตลอดจนสร้างความเดือดร้อนแก่สังคมและประชาชนโดยไม่ควร อย่างที่กำลังปรากฎ
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ท่าน ปธ.กมธ.สธ.สนช. นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ได้เขียนชี้แจงความคืบหน้าใน Facebook ส่วนตัวว่า "ผลสรุปการประชุมของอนุ กมธ.พิจารณาแก้ไขกฎหมาย พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ที่ประชุมสรุปว่าจะมีการเสนอแก้ไขกฎหมาย โดย สนช.จำนวน 20 คนเข้าชื่อเสนอแก้ไข กม.ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ม.๑๓๓ (๒) โดยขอแก้ไข ม.๒๖/๑ (วรรคแรก) เครื่องกำเนิดรังสีใดที่ผู้ดำเนินการไม่ต้องขอรับใบอนุญาตตาม ม.๒๖ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ให้คำนึงถึงระดับกัมมันตภาพรังสีหรือลักษณะการใช้งานเครื่องกำเนิดรังสี...(วรรคสอง)ในการออกกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องกำหนดให้เครื่องกำเนิดรังสีที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับใช้เพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ และไม่มีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบ และให้อยู่ในสถานพยาบาลตามกม.สถานพยาบาล เป็นเครื่องกำเนิดรังสีที่ไม่ต้องขออนุญาตตาม ม.๒๖ ซึ่งท่านแจ้งอีกว่าจะเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของทันตแพทย์ รพช.และเพื่อนร่วมวิชาชีพ
ดังนั้นจากแนวทางการแก้ปัญหาของ สนช. โดยท่าน ปธ.กมธ.สธ.สนช. ที่ต้องถือว่า มีความชัดเจนมากถึงวิธีการที่จะดำเนินการแก้ปัญหานี้ในขั้นต่อๆ ไป โดยท่านยังได้แจ้งให้ทราบกันโดยกว้างขวาง ให้ทุกๆ ฝ่ายได้รับทราบแนวทางร่วมกัน และหากทุกฝ่ายหันกลับมาร่วมกันทบทวนปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นอีกมากมายนั้น อีกทั้งเกิดการเห็นแย้งกันอย่างยืดเยื้อกว่าหนึ่งปี ทั้งทางวิชาการ การปฏิบัติและข้อเห็นต่างมากมายทางกฎหมาย
ผมและเพื่อนทันตแพทย์จึงหวังว่า ณ ตอนนี้จะเป็นเวลาที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่ที่ควรจะต้องหันมาสนใจและรับฟัง ช่วยแก้ปัญหาและหาทางออกร่วมกันอย่างจริงใจ ไม่ให้ปัญหานี้ยืดเยื้อ หยุดสร้างความกังวล หยุดสร้างผลกระทบต่อการบริการด้านสุขภาพของคนไทยและต่อระบบสาธารณสุขไทยให้เร็วที่สุด
ขอบคุณครับ โดยทันตแพทย์ชาญชัย ทนต์ประเสริฐเวช
หมายเหตุ :มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 "วัตถุอันตราย” หมายความว่า วัตถุดังต่อไปนี้
(๑) วัตถุระเบิดได้
(๒) วัตถุไวไฟ
(๓) วัตถุออกซิไดซ์และวัตถุเปอร์ออกไซด์
(๔) วัตถุมีพิษ
(๕) วัตถุที่ทำให้เกิดโรค
(๖) วัตถุกัมมันตรังสี
(๗) วัตถุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม
(๘) วัตถุกัดกร่อน
(๙) วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
(๑๐) วัตถุอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใด ที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม
- 30 views