นักวิชาการ ระบุ ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนฟาดกำไรมหาศาล จึงต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างน้อย 4 ด้าน เสนอรัฐเข้มกฎระเบียบควบคุมค่ารักษาพยาบาล
ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข
ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในเวทีเสวนาสภาผู้บริโภค ประเด็น “CSR ความรับผิดชอบต่อสังคมในโรงพยาบาลเอกชน” เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2561 ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตอนหนึ่งว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนถือเป็นขุมทรัพย์ใหม่ของบิ๊กทุนไทย โดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเคยลงข้อมูลเอาไว้ว่าช่วงปี 2558-2559 โรงพยาบาลเอกชนขนาดเล็กมีกำไรราวๆ ปีละ 40-75 ล้านบาท โรงพยาบาลระดับกลางๆ อยู่ที่ 100-150 ล้านบาท ขณะที่เครือโรงพยาบาลขนาดใหญ่กำไรถึง 3,400-3,600 ล้านบาท หรือเครือยักษ์ใหญ่ 7,900-8,300 ล้านบาท
ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า ในขณะที่ธุรกิจอื่นมีความเสี่ยง แต่ธุรกิจโรงพยาบาลกลับเป็นโอกาสที่บิ๊กทุนจากธุรกิจอื่นๆ กำลังมองหาและเข้ามาดำเนินการ ฉะนั้นเมื่อนี่คือทิศทางก็ถึงเวลาที่สังคมควรจะช่วยกันตรวจสอบว่าแท้ที่จริงแล้วโรงพยาบาลเอกชนควรจะมีบทบาทอย่างไร เพราะเขาได้รับผลกำไรจากการทำธุรกิจมาพอสมควรแล้ว
ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า จริงๆ แล้วคำว่าความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทเอกชน โดยพื้นฐานแล้วมีด้วยกัน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.ความรับผิดชอบต่อธุรกิจ คือความรับผิดชอบทางการเงินที่ต้องทำธุรกิจภายใต้การทำกำไรที่สังคมยอมรับได้ ไม่เบียดเบียนคนในสังคม แต่ปัจจุบันนี้กลับพบว่าธุรกิจมุ่งไปสู่การทำกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว
2.ความรับผิดชอบต่อกฎหมาย คือต้องทำกำไรตามกรอบที่กฎหมายกำหนด แต่ถามว่าทุกวันนี้ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมเรื่องราคาค่ารักษาพยาบาลหรือไม่ ถามต่อว่าแล้วหน่วยงานรัฐควรจะต้องเข้ามาควบคุมดูแลเรื่องนี้หรือไม่
3.ความรับผิดชอบต่อหลักจริยธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมจะเรียกร้องต่อไปให้โรงพยาบาลทำเพื่อรักษาสิทธิของประชาชน
4.หลักเมตตาธรรม
“ทุกวันนี้กระทรวงพาณิชย์ควบคุมสินค้าทุกอย่าง แม้แต่ผ้าอนามัยยังต้องแจกแจงว่าใช้วัสดุอะไร ใช้งบประชาสัมพันธ์เท่าไร มีโครงสร้างราคาเป็นอย่างไร จากนั้นจึงถึงกำหนดราคาและขายได้ แต่ธุรกิจพยาบาลกลับไม่มีกฎหมายใดควบคุม และไม่เคยมีราคาต้นทุนมาแสดง นั่นจึงเป็นที่มาของการไม่มีการกำหนดราคาของโรงพยาบาลเอกชน” ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว
ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวอีกว่า ในหลายประเทศไม่อนุญาตให้ธุรกิจพยาบาลเอกชนเป็นธุรกิจที่ทำกำไร คือผลกำไรที่ได้มานั้นต้องนำไปพัฒนาบริการให้กับคนไข้ต่อไปเรื่อยๆ ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการคือธุรกิจเอกชนต้องเป็นธุรกิจภายใต้การควบคุม ซึ่งรัฐจำเป็นต้องออกกฎระเบียบกติกาต่างๆ ที่เข้มแข็งมาควบคุมให้ชัดเจน ขณะที่แพทยสภาซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องประชาชนก็ควรมีบทบาทในการควบคุมราคาด้วย
“ความสัมพันธ์ระหว่างวิชาชีพกับคนไข้ที่ผูกพันกันมันขาดหายไปหมดแล้ว นั่นเพราะความสัมพันธ์มันกลายเป็นเรื่องเงินเรื่องธุรกิจ จึงไม่แปลกที่มีคดีความฟ้องร้องกันเยอะ” ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว
- 9 views