“คนไทยมีความเชื่อที่ผิด ๆ คิดว่าถ้าบริจาคอวัยวะไปแล้วชาติหน้าจะเกิดมาไม่ครบ 32 ประการ จะเกิดมาพิกลพิการ แต่ที่ผ่านมาผมเป็นหมอศัลยกรรมเวลาผ่าตัดเอาเต้านมที่เป็นมะเร็งออกไป หรือเอาไส้ติ่งออกไป ไม่เห็นมีคนไข้คัดค้านไม่ให้ตัด เพราะกลัวว่าชาติหน้าจะไม่มีเต้านม หรือไม่มีไส้ติ่งบ้าง การบริจาคอวัยวะถือว่าเป็นทานบารมี คือ สละร่างกาย (อวัยวะ) แก่ผู้อื่น โดยไม่หวังผลตอบแทนใด”
ผศ.นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
จากคำกล่าวของ ผศ.นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กับความเชื่อที่ผิด ๆ ของคนไทยในเรื่องของการบริจาคอวัยวะ ที่กลัวว่าหากบริจาคอวัยวะชาตินี้แล้วชาติหน้าจะเกิดมาเป็นคนพิการ ไม่ครบ 32
ผศ.นพ.วิศิษฏ์ เล่าว่า ก่อนที่เราจะบบริจาคอวัยวะได้นั้น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ร่างกายของคนเราจะเริ่มมีความเสื่อมเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ทุก ๆ 1 ปี ร่างกายจะมีความเสื่อมลงไป 1 % อวัยวะของคนเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ ยิ่งใช้ไปนานเท่าไหร่ความเสื่อมก็มีตามมา ดังนั้นอวัยวะของหนุ่มสาวจึงเป็นอวัยวะทีมีคุณภาพที่ดีทีสุด ทางศูนย์ฯ จะรับแค่เพียงอายุสูงสุด 65 ปีเท่านั้น ส่วนหัวใจ 45 ปี ถ้าอายุมากกว่านั้นอวัยวะที่ได้รับบริจาคจะไม่คุ้มค่าแก่การปลูกถ่าย
ส่วนของอวัยวะที่ได้รับบริจาคต้องได้มาจากผู้ป่วยที่แพทย์ได้วินิจฉัยลงความเห็นแล้วว่า มีภาวะสมองตาย ซึ่งญาติจะเป็นผู้แสดงเจตจำนงในการบริจาคได้ หรือในอีกกรณีหนึ่งคือ มีการแสดงตนแล้วว่าเมื่อตนเองเสียชีวิตอนุญาตให้นำอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายไปใช้ได้ นั่นคือ ขั้นตอนของการบริจาคอวัยวะ
ผศ.นพ.วิศิษฏ์ กล่าวว่า ในต่างประเทศสามารถทำการปลูกถ่ายอวัยวะได้เกือบทั้งหมดในร่างกาย ส่วนประเทศไทยสามารถปลูกถ่ายได้แค่หัวใจ ปอด ตับ ไต ตับอ่อน และในปี 2559 ได้ทำการปลูกถ่ายอวัยวะไปแล้วจำนวน 600 รายส่วนมากจะเป็นปลูกถ่ายไตมากถึง 80 % และมีโรงพยาบาลที่สามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้ที่มีทั้งหมดจำนวน 30 แห่ง เป็นของภาครัฐและเอกชน
ขั้นตอนการจัดเก็บอวัยวะที่ได้รับบริจาค เริ่มที่เมื่อทางเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งให้ไปจัดเก็บอวัยวะแล้ว จะต้องรีบจัดทีมจัดเก็บเดินทางไปทันที เพราะอวัยวะแต่ละชนิดมีอายุเวลาจัดเก็บรวมถึงการส่งต่อเพื่อปลูกถ่ายอวัยวะนั้นมีความต่างกัน
หัวใจ จะมีอายุสั้นสุด จะต้องจัดเก็บและดำเนินการทุกอย่างภายใน 4 ชั่วโมง ส่วนการเก็บอวัยวะนั้นแต่ละส่นมีอายุการเก็บได้ไม่เหมือกัน เช่น ตับอยู่ได้ 6 ชั่วโมง, ปอด อยู่ได้ 8 ชั่วโมง, ตับอ่อนอยู่ได้ 10 ชั่วโมงกว่าๆ และที่เก็บได้นานที่สุดคือ ไต อยู่ได้ 24 ชั่วโมง
ดังนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงที่หมายแล้ว จะแบ่งงานกันทำเพื่อดูว่าอวัยวะใดสามารถนำไปใช้ได้บ้างโดยอวัยวะที่ได้จะมีการแช่น้ำยาพิเศษเพื่อรักษาอวัยวะ
ปัจจัยที่จะทำให้อวัยวะที่ได้รับบริจาคมีความสมบูรณ์มากที่สุด นอกจากการจัดเก็บที่ถูกวิธีแล้ว ระยะเวลาในการเดินทางนำอวัยวะมาที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ การเดินทางที่เร็วที่สุด ใช้เวลาน้อยที่สุดจะทำให้อวัยวะที่รับบริจาคมามีความสมบูรณ์มากที่สุดเช่นกัน ถ้าเป็นระยะทางที่ใกล้จะใช้รถยนต์ แต่ถ้าระยะทางไกล การเดินทางด้วยเครื่องบินจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะใช้เวลาน้อยที่สุด โดยศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ได้รับความอนุเคราะห์จากสายการบินต่างๆ เช่น แอร์เอเชีย นกแอร์ บางกอกแอร์เวย์ ที่ให้บริการที่นั่งแก่เจ้าหน้าที่ทั้งไปและกลับฟรี นอกจากนี้ยังมีอดีตนักการเมืองอย่าง นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ใช้เครื่องบินส่วนตัวบินไปรับหัวใจที่รับบริจาค ซึ่งการเก็บอวัยวะเป็นการทำงานที่ต้องแข่งขันกับเวลา และทีมงานต้องพร้อมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพราะไม่รู้ว่าอวัยวะที่ได้รับบริจาคจะได้มาเวลาไหน
บริจาคอวัยวะดู ที่นี่
- 4965 views