อย.จัดประชุมผู้ประกอบการสถานพยาบาลทั่วประเทศ เน้นเรื่องการรักษาโรคนอนไม่หลับและแนวทางการใช้ยาในกลุ่มเพื่อรักษาอาการโรคนอนไม่หลับ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสาระสำคัญที่สถานพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อเป็นเวทีในการให้ความรู้ทางวิชาการ การแจ้งข้อมูลสถานการณ์จากภาครัฐ การสะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า วัตถุเสพติดที่ใช้ทางการแพทย์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญในการบำบัด รักษา ทั้งในแง่ของการดำรงชีพและการรักษาชีวิต ในขณะเดียวกันก็ต้องมีระบบการควบคุม ป้องกันการกระจายที่เข้มงวดและระมัดระวังความปลอดภัยเป็นพิเศษ มิให้เกิดการรั่วไหลไปสู่นอกระบบ
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยกลุ่มเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติด มีหน้าที่ในการจัดหาวัตถุเสพติดที่ใช้ในทางการแพทย์ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษ ประเภท 2, 4 และวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 เพื่อจำหน่ายให้กับสถานพยาบาล โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งคลินิกทั่วประเทศแต่ผู้เดียว ซึ่งวัตถุเสพติดทางการแพทย์ส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ จึงทำให้ในบางครั้งหากผู้ผลิตไม่สามารถผลิตหรือส่งมอบให้ได้ ก็จะเกิดปัญหาการขาดแคลนยาได้
สำหรับกลุ่มยาที่ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) ซึ่งถูกควบคุมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 นั้น เป็นยากลุ่มเสี่ยงอันดับต้น ๆ ที่พบว่าถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดในการก่ออาชญากรรม กฎหมายจึงกำหนดให้ภาครัฐเป็นผู้จัดหาและจำหน่ายแต่ผู้เดียว โดยยานอนหลับที่จำหน่ายในขณะนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
(1) ยานอนหลับที่ออกฤทธิ์ยาว มี 2 รายการ ได้แก่ 1) Nitrazepam tablet 5 mg/tab ชื่อการค้า AlodormR 2) Flunitrazepam tablet 1 mg/tab ชื่อการค้า RohypnolR
(2) ยานอนหลับที่ออกฤทธิ์สั้น มี 4 รายการ ได้แก่ 1) Midazolam tablet 15 mg/tab ชื่อการค้า DormicumR 2) Alprazolam tablet 0.25, 0.5 และ 1 mg tab 3) Zolpidem tartrate tablet 10 mg/tab 4) Midazolam injection (ขนาด 5 mg/ml/amp และ 15 mg/3 ml/amp)
กรณีผู้ผลิตยา Midazolam ชนิดเม็ดรับประทาน (ภายใต้ชื่อการค้า DormicumR) ที่จะมีการย้ายโรงงานผลิตจากประเทศเม็กซิโกและหยุดผลิตชั่วคราวนั้น ขณะนี้กลุ่มเงินทุนฯ ยังไม่สามารถหาแหล่งผลิตที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับยาต้นแบบได้ เนื่องจากทั่วโลกมีการใช้ยาดังกล่าวน้อยมาก ทำให้มีผู้ผลิตน้อยราย อย่างไรก็ดี แพทย์สามารถใช้ ยาตัวอื่น ๆ ในกลุ่มดังกล่าวทดแทนได้
รองเลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า ในขณะที่สถานการณ์สภาวะด้านสุขภาพของประชากรไทยยังพบว่าแนวโน้มของปัญหาการนอนไม่หลับเพิ่มมากขึ้น ประมาณร้อยละ 30 ของประชากรเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนไม่หลับและร้อยละ 6-10 ของประชากร มีปัญหาการนอนไม่หลับรุนแรงถึงขั้นต้องได้รับการรักษาและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ยังต้องใช้วัตถุเสพติดในกลุ่มยานอนหลับดังกล่าวอยู่ ดังนั้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 อย.จึงได้จัดให้มีการประชุมผู้ประกอบการสถานพยาบาล ทั่วประเทศ เรื่อง การรักษาโรคนอนไม่หลับและแนวทางการใช้ยาในกลุ่มเพื่อรักษาอาการโรคนอนไม่หลับ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์การบำบัดรักษาผู้ป่วยในแง่มุมต่าง ๆ รวมทั้งสาระสำคัญที่สถานพยาบาลภาครัฐและเอกชนต้องปฏิบัติในฐานะผู้รับอนุญาตขาย/ครอบครอง/จำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ ตามประกาศพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย แพทย์ เภสัชกร และผู้เกี่ยวข้องจากสถานพยาบาล ทั้งภาครัฐและเอกชน กว่า 150 คน
รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า อย.คาดหวังว่าการประชุมครั้งนี้ จะเป็นเวทีในการให้ความรู้ทางวิชาการ การแจ้งข้อมูลสถานการณ์จากภาครัฐ การสะท้อนปัญหา ข้อเสนอแนะและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นเลิศ รวมทั้งเพื่อสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่าง อย. และผู้ประกอบการสถานพยาบาลอีกด้วย
- 507 views