กรมควบคุมโรคจัดงานประชุมวิชาการเพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ด้านการสาธารณสุข ประจำปี 2560 จำนวน 4 ท่าน ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคจากการติดเชื้อฮิบ ส่งผลให้ลดการป่วยและการเสียชีวิตด้วยโรคจากการติดเชื้อดังกล่าวในเด็กเล็กทั่วทุกภูมิภาคของโลก เผย สธ.อยู่ระหว่างดำเนินการบรรจุวัคซีนดังกล่าวเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคาดว่าประเทศไทยจะได้ใช้วัคซีนนี้ภายในปี 2562 นี้
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 ที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดการประชุมวิชาการ “Haemophilus influenzae type b Vaccine” เพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ด้านการสาธารณสุข พ.ศ.2560 จำนวน 4 ท่าน ได้แก่
1.ศาสตราจารย์พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู แอนเดอร์สัน จูเนียร์
2.ศาสตราจารย์นายแพทย์มธุราม ซานโตชาม
3.แพทย์หญิงราเชล ชเนียสัน
และ 4.นายแพทย์จอห์น บี รอบบินส์
นพ.โอภาส กล่าวว่า ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลทั้ง 4 ท่าน เป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย “ฮีโมฟีลุส อินฟลูเอนเซ ชนิดบี หรือเรียกสั้นๆ ว่า เชื้อฮิบ” รวมทั้งผลักดันให้เกิดการใช้วัคซีนดังกล่าวในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ส่งผลให้ลดการป่วยและการเสียชีวิตด้วยโรคจากการติดเชื้อดังกล่าวในกลุ่มเด็กเล็กทั่วทุกภูมิภาคของโลก
โดยนักวิจัยกลุ่มแรก ได้แก่ ศาสตราจารย์พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู แอนเดอร์สัน จูเนียร์ และคณะจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และนักวิจัยกลุ่มที่สอง นำโดยแพทย์หญิงราเชล ชเนียสัน ร่วมกับนายแพทย์จอห์น บี รอบบินส์ จากสถาบันสุขภาพเด็กและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ทั้ง 2 กลุ่มได้ศึกษากลไกการเกิดโรค และพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคจากการติดเชื้อฮิบ ขณะที่ศาสตราจารย์นายแพทย์มธุราม ซานโตชาม จากมหาวิทยาลัยจอนห์ ฮอบกินส์ ได้ศึกษาระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อฮิบและประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันโรคติดเชื้อฮิบหลายชนิด ซึ่งนำไปสู่การผลักดันในเชิงนโยบาย และทำให้มีการฉีดวัคซีนฮิบในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคกว่า 190 ประเทศทั่วโลก
ด้าน นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โรคติดเชื้อฮิบ สามารถก่อให้เกิดความรุนแรงในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดอักเสบ ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ ข้ออักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และฝีในสมอง หากเด็กรอดชีวิตก็อาจเกิดความพิการทางสมอง และความบกพร่องที่อวัยวะต่างๆ อย่างถาวรได้
สำหรับประเทศไทย มีการศึกษาอุบัติการณ์ของโรคจากการติดเชื้อฮิบในเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี พบว่า อุบัติการณ์ของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อฮิบเท่ากับ 3.8 -6.1 ต่อประชากรแสนคน โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อฮิบ เท่ากับ 8.83 – 80 ต่อประชากรแสนคน คาดประมาณว่า พ.ศ.2558 เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ป่วยเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อฮิบ เท่ากับ 139 - 224 คน และป่วยเป็นโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อฮิบ เท่ากับ 324 - 2,941 คน
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างดำเนินการบรรจุวัคซีนดังกล่าวเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ในรูปแบบของวัคซีนรวม 5 โรค ได้แก่ โรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบี และโรคติดเชื้อฮิบ ทดแทนวัคซีนรวม 4 โรค ป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบี ที่ใช้ในปัจจุบัน จำนวน 3 เข็ม ในเด็กอายุ 2 4 และ 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศได้ภายใน พ.ศ. 2562 จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่เด็กๆ ของเราจะได้รับการป้องกันโรคจากการติดเชื้อฮิบเพิ่มอีกหนึ่งโรค
หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
- 18 views