กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลสุขภาพ (Health Information center) แห่งใหม่ ที่สนามบินดอนเมือง เพิ่มช่องทางให้บริการข้อมูลสุขภาพ การรับเรื่องร้องเรียนจากผู้รับบริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และอำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวในกรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย รวม 90 วัน สำหรับประเทศกลุ่มสมาชิก CLMV และประเทศจีน รวมทั้งกลุ่มประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ในการเพิ่มขีดความสามารถด้านระบบบริการสุขภาพของไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรม สบส.ได้ดำเนินงานตามนโยบายการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ เมดิคัลฮับ (Medical Hub) โดยได้จัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลสุขภาพ (Health Information Center) เพิ่มอีก 1 แห่ง ที่สนามบินดอนเมือง ส่วนอีกแห่งอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านข้อมูลสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การบริการแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ผู้รับการรักษาพยาบาลทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ กลุ่มประเทศ CLMV และจีน กลุ่มประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ ที่ได้รับการยกเว้นการลงตราระยะเวลา 90 วันและกลุ่มประเทศพำนักระยะยาว 10 ปี รวม 14 ประเทศ รวมถึงการรับเรื่องร้องเรียนจากชาวไทยและชาวต่างชาติด้านระบบบริการสุขภาพ
พร้อมทั้งได้ทำบันทึกข้อตกลงกับสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ หรือ สสปน. เพื่อส่งเสริมการจัดงานกิจกรรมทางธุรกิจในประเทศไทย ถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการตลาด การลงทุนด้านระบบบริการสุขภาพของไทย เพื่อให้สอดรับกับ 4 ผลผลิต หลักตามนโยบายเมดิคัลฮับ ได้แก่
1.ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub)
2. ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub)
3.ศูนย์กลางบริการวิชาการกและงานวิจัย (Academic Hub)
4.ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)
นางเสาวภา จงกิตติพงศ์ ผู้อำนวยการกองสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวต่อว่า ศูนย์บริการข้อมูลสุขภาพ ทั้ง 2 แห่ง มีหน้าที่ คือ 1.ให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มผู้ป่วยและผู้ติดตามทั้งขาไปและขากลับ ที่ขยายระยะเวลาพำนัก 90 วัน ในกลุ่มประเทศสมาชิกรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) กลุ่มประเทศ CLMV และจีน และกลุ่มนักท่องเที่ยวพำนักระยะยาว 10 ปี ใน 14 ประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ อิตาลี เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และแคนาดา
2.ดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
3.อำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารระดับสูงและผู้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติในประเทศ
4.รับเรื่องร้องเรียนด้านระบบบริการสุขภาพจากชาวไทยและชาวต่างชาติ
5.จัดทำและประมวลผลระดับความพึงพอใจของผู้เข้ารับบริการศูนย์ฯ
6.สนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
ถือได้ว่าเป็นการชูความพร้อมของไทย เน้นย้ำเป็นการศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ กระตุ้นการท่องเที่ยว และสร้างรายได้เข้าประเทศ
- 31 views