ผอ.สถาบันพระบรมราชชนก ยอมรับ สถาบันฯ มีแผน “ปิดหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์” ปี 62 จะรับสมัครนักศึกษารุ่นสุดท้าย เหตุจำนวนล้น รวมทั่วประเทศผลิตกว่า 2 หมื่นคนต่อปี ย้ำยังกระบวนการพิจารณาจัดทำแผน ยังไม่มีประกาศเป็นทางการ เชื่อหากเลิกหลักสูตรจริง ไม่ส่งผลกระทบประชาชน เพราะมีอัตราผลิตน้อย พร้อมวางแผนรองรับไม่กระทบนักศึกษาแน่นอน
นพ.รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชนก กระทรวงสาธารณสุข
จากกรณีที่มีการโพสต์และส่งต่อข้อความ ระบุว่า “หลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิตของ วสส. (วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร) จะงดรับนักศึกษาตั้งแต่ปี 2562 และปี 2565 จะปิดตัวลง” นั้น นพ.รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชนก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวชี้แจงว่า ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการประกาศ อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยสถาบันฯ มีแผนในการชะลอและลดการผลิตหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต เนื่องจากปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยภายใต้สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่เปิดสอนหลักสูตรนี้จำนวนมาก ทั่วประเทศมีผู้เรียนจบถึงปีละกว่า 20,000 คน โดยในส่วนของสถาบันพระบรมราชชนกมีการผลิตปีละ 350-400 คน ดังนั้น นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เห็นควรให้ชะลอการผลิต โดยให้ส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยังสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อทบทวน รวมถึงในส่วนของสถาบันพระบรมราชชนกเอง
ทั้งนี้ ตามแนวทางสถาบันฯ ยังไม่ได้ยุติการผลิตโดยทันที โดยปี 2562 จะผลิตเป็นรุ่นสุดท้ายและลดจำนวนการรับนักศึกษาเข้าเรียนในหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ลง เหลือเพียง 200 คน จากเดิมในแต่ละปีจะรับอยู่ที่ 350-400 คน และในปี 2565 เมื่อนักศึกษาทั้งหมดเรียนจบแล้วจึงค่อยปิดหลักสูตรนี้
นพ.รุ่งฤทัย กล่าวว่า การชะลอการผลิตและปิดการสอนหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ของสถาบันพระบรมราชชนก ไม่ส่งผลกระทบทั้งการบริการประชาชน เนื่องจากสถาบันฯ มีกำลังการผลิตไม่มาก เพียงร้อยละ 2 ของภาพรวมการผลิตทั้งประเทศ รวมถึงนักศึกษาที่ยังเรียนอยู่ก็ไม่ส่งผลกระทบ เนื่องจากสถาบันฯ ได้วางแผนดำเนินการในช่วง 4 ปี โดยในปี 2565 ที่กำหนดปิดหลักสูตรจะไม่มีนักศึกษาคงค้างอยู่ในระบบของสถาบัน สำหรับในส่วนสถาบันการศึกษาอื่นนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสถาบัน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้มีแนวทางให้สถาบันการศึกษาจำกัดการผลิตนักศึกษาในสาขาที่เกินความต้องการทำให้มีการกระพือข่าวนี้
ต่อข้อซักถามว่า หลังปิดหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์แล้วในปี 2565 ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะกลับมาเปิดสอนใหม่หรือไม่ นพ.รุ่งฤทัย กล่าวว่า อาจมีความเป็นไปได้ แต่คงเปลี่ยนรูปแบบของหลักสูตรการสอนไป เน้นผลิตในส่วนที่ต้องการหรือที่ยังขาดแคลนอยู่ โดยเน้นหลักสูตรเฉพาะด้าน เนื่องจากงานด้านสาธารณสุขมีหลายด้าน เช่น สาธารณสุขด้านทันตกรรม สาธารณสุขด้านสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุขด้านโภชนาการ เป็นต้น
ส่วนที่มองว่าอาจมีแรงต้าน เนื่องจากอาจถูกมองว่าถูกลดบทบาทวิชาชีพลงนั้น นพ.รุ่งฤทัย กล่าวว่า เป็นคนละประเด็นกัน เพราะเรื่องนี้เป็นการลดกำลังผลิต ไม่ได้ลดบทบาทวิชาชีพ ซึ่งวิชาชีพสาธารณสุขยังคงเป็น 1 ใน 26 สาขาวิชาชีพของกระทรวงสาธารณสุข โดยยังคงมีบทบาทสำคัญในงานสาธารณสุขระดับชุมชนและงานสาธารณสุขเฉพาะด้านในบางเรื่อง ขณะเดียวกันเรื่องนี้ยังเป็นการตอบสนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุขด้วย ทั้งอัตราการผลิตหลักสาธารณสุขศาสตร์ของสถาบันเรามีน้อยมากจึงไม่กังวล ขณะเดียวกันปัจจุบันผู้ที่จบหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ของสถาบันฯ หากต้องการรับราชการต้องสอบแข่งขันกับสถาบันอื่น แตกต่างจากเมื่อก่อนที่จะเป็นนักเรียนทุนและได้รับการบรรจุราชการทั้งหมด เพราะในอดีตสาขานี้ยังเป็นที่ต้องการและขาดแคลนมาก แต่ปัจจุบันไม่มีตำแหน่งบรรจุให้แล้ว ทั้งยังมีสถาบันอื่นที่ร่วมผลิตเป็นจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันได้มีข้อความโพสต์ตามโซเชียลแล้ว จะมีการประชาสัมพันธ์และสื่อสารอย่างไร นพ.รุ่งฤทัย กล่าวว่า ยังไม่ได้สื่อสารใดๆ ออกไป เพราะยังอยู่ในกระบวนการและเป็นข้อมูลภายใน ซึ่งยังคงต้องฟังความเห็นจากวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวช้องร่วมให้ความเห็น ขอย้ำว่าขณะนี้สถาบันพระบรมราชชนกยังไม่มีประกาศเรื่องนี้ โดยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำแผน 5 ปี ในการผลิตนักศึกษาหลักสูตรต่างๆ ของสถาบัน ซึ่งคงจะมีการประชุมในปลายเดือนนี้ ขณะเดียวกันยังต้องนำเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข ต่อไป ดังนั้นข้อเท็จจริงขณะนี้คือยังไม่มีประกาศใดๆ ออกจากสถาบัน จึงยังเป็นเพียงแนวทางและข้อคิดเท่านั้น
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการประกาศ อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยสถาบันฯ มีแผนในการชะลอและลดการผลิตหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต เนื่องจากปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยภายใต้สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่เปิดสอนหลักสูตรนี้จำนวนมาก ทั่วประเทศมีผู้เรียนจบถึงปีละกว่า 20,000 คน โดยในส่วนของสถาบันพระบรมราชชนกมีการผลิตปีละ 350-400 คน (นพ.รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชนก กระทรวงสาธารณสุข)
- 572 views