คนเราเมื่อเจ็บป่วย ก็จะเกิดความรู้สึกไม่สบาย เจ็บปวด ทรมาน จึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ถ้าเป็นมานาน ค่อยเป็นค่อยไป ก็จะรับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล แต่ถ้ามีความรู้สึกไม่สบายมาก หรืออาการเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หรือเจ็บป่วยนอกเวลาราชการ ก็จะไปรับการบริบาลที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล
ซึ่งในช่วงหลังๆ นี้มีปัญหาระหว่างผู้ป่วย ญาติ และทีมสุขภาพ ที่เป็นข่าวในสื่อต่าง ๆ มากขึ้น ผมมานั่งคิด ไตร่ตรองว่าทำไมถึงเกิดปัญหามากขึ้นกว่าในอดีตมาก ก็พบว่าสาเหตุหนึ่งน่าจะเกิดจากการที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังมีความเข้าใจผิด ลองติดตามดูครับ
1. ทุกโรงพยาบาลต้องมีห้องฉุกเฉิน ซึ่งดูผิวเผินการที่มีห้องฉุกเฉินในทุกโรงพยาบาลก็น่าจะดี เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนยามเจ็บป่วย สามารถมารับการรักษาได้ทันที แต่ถ้าเรามานั่งคิดอย่างละเอียด การเปิดบริการด้านการรักษาพยาบาลห้องฉุกเฉินนั้น อาจเกิดผลเสียก็ได้ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ล่าช้าออกไป เข้าถึงการรักษาที่ต้องได้รับล่าช้าออกไป เพราะเสียเวลาในการรักษาที่ห้องฉุกเฉินในพื้นที่นานเกินไป
ผมยกตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน กรณีผู้ป่วยเป็นโรคอัมพาตเฉียบพลัน จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และต้องเข้าถึงการรักษาให้เร็วที่สุด แต่ถ้าผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งไม่มีความพร้อมทั้งด้านแพทย์ผู้ให้การรักษาและเครื่องมือ อย่างน้อยก็เสียเวลาประมาณ 30 นาที ส่งผลให้โอกาสการได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด กรณีเป็นโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดน้อยลงไป แต่ถ้ามีระบบการนำส่งผู้ป่วยด้วยรถพยาบาลฉุกเฉินที่รวดเร็วแทนการมีห้องฉุกเฉิน ก็จะสามารถทำให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะเข้าถึงระบบการรักษาได้รวดเร็ว และเป็นการใช้ทรัพยากรด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ ลดภาระด้านค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้อย่างมาก รวมทั้งการสร้างพฤติกรรมการใช้บริการนอกเวลาราชการที่เหมาะสมมากขึ้น
ปัจจุบันทุกโรงพยาบาลต้องเปิดบริการห้องฉุกเฉินนั้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายมากมาย อาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดีก็ได้ ถ้ามีการประเมินความคุ้มค่า ความจำเป็นในการมีห้องฉุกเฉินของทุกโรงพยาบาลรัฐ
2. เมื่อมีการเจ็บป่วยนอกเวลาราชการต้องไปรักษาที่ห้องฉุกเฉิน ประเด็นนี้เป็นปัญหาที่พบมากที่สุด คือ เจ็บป่วยไม่ว่าจะมีอาการอะไร รุนแรงหรือไม่รุนแรง ผู้ป่วยก็จะเลือกไปตรวจรักษาที่ห้องฉุกเฉินแทนที่จะรอรับการตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอกในเวลาราชการ ด้วยเหตุผลคือ เร็วกว่า คนน้อยกว่า หรือไม่มีเวลาช่วงกลางวัน จึงมาตรวจนอกเวลาราชการเร็วกว่า
ที่ถูกต้องแล้วการบริบาลที่ห้องฉุกเฉินนั้นต้องเป็นกรณีที่มีภาวะอันตราย เร่งด่วนถึงกับชีวิต ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทันเวลา ชื่อห้องฉุกเฉิน ก็คือ Emergency Room คือ ภาวะที่ฉุกเฉินเท่านั้น แต่ในมุมมองของประชาชน คือ เจ็บป่วยใด ๆ ก็อยากรักษาอย่างเร็ว สะดวก จึงมารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน ทำให้ข้อมูลด้านการรับบริการของทุกห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลรัฐนั้น ให้บริการการรักษาที่เป็นกรณีฉุกเฉินจริงเพียงส่วนน้อย และส่วนมากก็ไม่ฉุกเฉินที่มารับบริการ การเข้าใจผิดประเด็นนี้ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นกรณีฉุกเฉินจริง ๆ อาจได้รับการรักษาที่ล่าช้าออกไป ไม่ทันเวลา ส่งผลเสียต่อผู้ป่วยฉุกเฉินจริง ๆ
3. เมื่อผู้ป่วยมาโรงพยาบาลต้องได้รับการตรวจเสมอ ประเด็นนี้ผมก็อยากทำความเข้าใจกับทุกคนให้ดีครับ ว่าการตรวจรักษาที่เหมาะสมนั้น ต้องตรวจให้ตรงกับแพทย์ที่มีความถนัด ความสามารถในการรักษาโรคนั้น ๆ เช่น เป็นภาวะมองเห็นไม่ชัดเจนมานานเป็นเดือน แต่เพิ่งมาหาหมอวันนี้ตอน 2 ทุ่ม ก็ต้องการให้หมอตรวจประเมิน รักษาเลย ซึ่งกรณีแบบนี้การรักษาที่เหมาะสม คือ เจ้าหน้าที่จะนัดให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตาในภายหลัง แต่ผู้ป่วยก็ไม่เข้าใจ ต้องการให้ตรวจตอนนี้ ถ้าไม่ตรวจให้ก็ไม่พอใจ อาจเกิดการร้องเรียนขึ้นได้
ดังนั้นอยากบอกว่าการมาที่โรงพยาบาลนั้น อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจทุกครั้งก็ได้ครับ แต่ผู้ป่วยจะได้รับการแนะนำให้เข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม โปรดเข้าใจประเด็นนี้ด้วย
4. ทุกโรงพยาบาลสามารถรักษาได้ทุกโรค ต้องเข้าใจใหม่ว่าห้องฉุกเฉินจะสามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้น เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเท่านั้น ไม่ได้สามารถให้การรักษาจนหาย หรือได้คำตอบว่าเป็นโรคอะไร ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลก็มีความสามารถแตกต่างกันในการให้การรักษา ขึ้นกับระดับของโรงพยาบาล ความพร้อมของแพทย์และทีม
ดังนั้นการที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินนั้น ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยหายได้ทั้งหมด ไม่สามารถให้การรักษาได้ทุกกรณี แต่จำเป็นต้องให้การนัดหมายมารักษาต่อเนื่อง หรือส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ต่อไป
5. เมื่อมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน ก็ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ รอไม่ได้จะต้องตรวจเลย เพราะเข้าใจว่าตนเองฉุกเฉิน ผู้ป่วยและญาติจะมีความเข้าใจว่าถ้าเจ็บป่วยก็จะมาโรงพยาบาล เมื่อมาถึงโรงพยาบาลก็ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การเจ็บป่วยที่ต้องมารักษาที่ห้องฉุกเฉินนั้น ก็ต้องเป็นภาวะฉุกเฉินจริง ๆ แต่ที่เป็นจริงในปัจจุบัน คือ มากกว่าครึ่งที่มารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินนั้นไม่ใช่ภาวะฉุกเฉิน ดังนั้นเมื่อมีผู้ป่วยฉุกเฉินจริง ๆ มารับบริการ แพทย์ก็ต้องให้การตรวจรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน จึงดูเสมือนการบริการที่ไม่เป็นไปตามลำดับการมารับบริการ หรือรอนานกรณีไม่ฉุกเฉิน ก็จะมีการเรียกร้องขอตรวจก่อน เพราะอ้างว่าฉันมาก่อน
ทั้งที่จริง ๆ แล้ว อาการที่มานั้นไม่ได้ฉุกเฉินเลย เรื่องนี้อยากให้สังคมเข้าใจด้วยครับว่า ถ้าไม่ฉุกเฉิน แล้วมาใช้บริการห้องฉุกเฉิน ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ผู้ป่วยฉุกเฉินนะครับ
6. ใครมาก่อนต้องได้รับการตรวจก่อน ซึ่งดูผิวเผินก็น่าจะถูกต้อง แต่เนื่องจากผู้ป่วยที่มารับการรักษาในห้องฉุกเฉินนั้นมีทั้งที่ฉุกเฉินจริง ๆ ตามเกณฑ์การประเมินทางการแพทย์ กับไม่ฉุกเฉิน ดังนั้นระบบจะมีการคัดกรอง และประเมินความจำเป็นเร่งด่วน มีการจัดลำดับความเร่งด่วนของผู้ป่วยแต่ละราย กรณีที่ไม่เร่งด่วนอาจต้องให้รอตรวจหลังสุด จึงใช้เวลารอคอยนาน ตรงนี้อยากให้ทุกคนเข้าใจด้วย เพราะจริงแล้วห้องฉุกเฉินไม่ควรให้การบริการต่อผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินนั้น แต่ในระบบการบริการของวัฒนธรรมไทย ยังมีการเอื้ออาทรต่อผู้มารับบริการ ดังนั้นถ้าไม่ด่วนก็อยากให้รอด้วยนะครับ
7. การตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอกรอนาน มารับบริการที่ห้องฉุกเฉินดีกว่า เร็วกว่าเยอะ ความคิดนี้เกิดขึ้นเยอะมาก ขอบอกว่าเป็นการคิดที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง การใช้บริการผิดที่ ผิดวัตถุประสงค์ย่อมก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบบริการสุขภาพทั้งหมด เป็นการคิดที่เห็นแก่ตัวมากครับแบบนี้
ใครที่เคยคิด เคยทำ หรือกำลังจะคิดแบบนี้ ผมขอร้องให้เลิกครับ โปรดเคารพกติกาของสังคม สังคมไทยต้องเป็นสังคมที่มีระเบียบ มีแนวคิดในการพัฒนาเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่คิดเอาเปรียบคนอื่น ๆ หรือคิดแบบตามสบาย ตามใจ คือไทยแท้ แบบนี้ไม่ได้ครับ ต้องแก้ไขเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมครับ
เมื่อเราลดภาระงานที่ไม่จำเป็นของห้องฉุกเฉินออกไป ผมเชื่อมั่นว่าการบริการที่ห้องฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินย่อมได้รับการบริการรักษาที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน เรามาเริ่มตั้งแต่วันนี้เลยครับ ไม่ด่วน ไม่ฉุกเฉินให้รอรักษาแบบผู้ป่วยนอกในวันเวลาราชการครับ แต่ถ้าด่วน ก็ต้องรีบไปเลยครับ ห้องฉุกเฉิน หรือใช้บริการ ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 หรือ application FAST TRACK เรียกรถพยาบาล
ผู้เขียน รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เผยแพร่ครั้งแรก Facebook ส่วนตัว Somsak Tiamkao เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561
รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 1114 views