ประธาน กมธ.สาธารณสุขเล็งถกเพิ่มสิทธิข้าราชการให้ได้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ ชี้บัตรทอง-ประกันสังคมทำไปแล้ว ยังขาดแค่สวัสดิการข้าราชการดังนั้นควรทำทั้งหมดเพื่อความเสมอภาค ย้ำช่วยลดปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ได้ในภาพรวม

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2561 นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึง กรณีที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ออกประกาศหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ โดยใช้อัตราเดียวกับมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ว่า เรื่องนี้เป็นการสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ในตอนแรกมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านำร่องไปก่อน และขณะนี้ตามมาด้วยระบบประกันสังคม

อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่มที่ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการที่ยังไม่ได้สิทธินี้ ซึ่งเป็นงานของ กมธ.สาธารณสุขที่ต้องดำเนินการต่อ โดยหลังจากนี้จะได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบถามว่าจะสามารถออกกฎกระทรวงหรือระเบียบเพื่อช่วยเหลือกลุ่มข้าราชการที่ยังไม่ได้สิทธินี้ได้อย่างไรบ้าง

นพ.เจตน์ กล่าวว่า นอกจากสร้างความเสมอภาคแล้ว การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจะมีประโยชน์ช่วยลดการฟ้องร้องแพทย์ลงได้ เพราะเมื่อผู้ป่วยหรือญาติคิดจะฟ้องร้อง ก็ต้องเสียเวลาทำมาหากินและทุนทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปศาล อีกทั้งไม่ทราบว่าจะชนะหรือแพ้คดี แต่การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจะได้เงินเลยและได้เร็วด้วย ทำให้สามารถช่วยเยียวยาในช่วงที่ครอบครัวลำบากได้ ซึ่งหากสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในเรื่องนี้เข้ามาอีก ก็น่าจะช่วยลดการฟ้องร้องในภาพรวมในทุกสิทธิ ดีกับทั้งแพทย์ ผู้ป่วยและญาติ

ที่สำคัญการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไม่ได้ใช้เม็ดเงินมากมาย ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใช้เงินไปกับเรื่องนี้เพียง 200 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของผู้ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีจำนวนน้อยกว่ามาก เม็ดเงินที่ใช้ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก และการจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นก็ไม่ได้จ่ายให้ทุกกรณี จะจ่ายเฉพาะกรณีที่มีเหตุผลให้จ่ายเท่านั้น

“ถ้าทำต้องครบเสมอภาค จะทำแค่กลุ่มเดียวไม่ได้ ผมเคยเจอคนไข้ 2 คนตายด้วยการคลอดบุตร คนหนึ่งเป็นบัตรทอง คนหนึ่งเป็นประกันสังคม เราก็ช่วยได้เฉพาะบัตรทอง แต่ประกันสังคมซึ่งเสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกันกลับไม่มีเงินที่จะมาช่วย ก็เลยเป็นที่มาที่ไปว่าต้องเสมอภาคเท่าเทียมกับบัตรทอง เพราะคนไข้ทั้ง 2 กลุ่มนี้ก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่เวลาเขาเดือดร้อนรัฐก็ควรลงไปเยียวยา” นพ.เจตน์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประกาศแล้ว 'ผู้ประกันตน' รับเงินเยียวยาเท่า 'บัตรทอง' พร้อมให้มีผลย้อนหลัง