จ๊ะ...เอ๋ จ๊ะ...เอ๋ เชื่อว่าทุกครอบครัวคงเคยเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกหลานหรือเด็กเล็กกันมาแล้วทั้งนั้น แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วการเล่นกิจกรรมดังกล่าวส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็กอย่างไรบ้าง
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานของขวัญเด็กไทย ‘สิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก’ เครื่องมือดูแลลูกยุคใหม่ว่า พัฒนาการช่วงปฐมวัยเป็นรากฐานการพัฒนามนุษย์ได้ตลอดชีวิต จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2558-2559 โดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ผู้ใหญ่ในครัวเรือน อย่างปู่ย่า ตายาย มีบทบาทสูงต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กในช่วงอายุ 3-5 ปีถึง 92.7% ขณะที่บทบาทของแม่มีผล 62.8% รองลงคือ บทบาทของพ่อ 34% และยังพบว่าเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี มีพฤติกรรมเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 50% และเกือบ 7 ใน 10 ของเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งการมีพฤติกรรมเช่นนี้อาจส่งผลให้เกิดภาวะสมาธิสั้น
นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี มีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่ม เพียง 41.2% นั่นเท่ากับว่าเด็กอีก 59% มีหนังสือเด็กในบ้านไม่ถึง 3 เล่ม การเลี้ยงดูในบ้านจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในวัยดังกล่าว ขอเพียงแค่พ่อแม่และผู้ปกครองมอบความรักและความเอาใจใส่ให้แก่เขา เครื่องมือสิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก ภายใต้โครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อกระตุ้น และส่งเสริมให้พ่อแม่และบุคคลที่ใกล้ชิดเด็ก ได้รู้จักเครื่องมือง่ายๆ ที่กระตุ้นพัฒนาการเด็ก โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อย่างเช่น ‘เล่นจ๊ะเอ๋’ ที่เป็นกิจกรรมพื้นบ้าน แต่มีส่วนพัฒนาสมองหลายด้านอย่างคาดไม่ถึง
พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษาโครงการฯ ให้ข้อมูลการเล่นจ๊ะเอ๋ที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กดังนี้
1) เรียนรู้ว่าสิ่งต่างๆ ยังคงอยู่แม้จะมองไม่เห็น การเล่นจ๊ะเอ๋ช่วยให้เด็กใน 2 ขวบปีแรกได้เรียนรู้เรื่องการคงอยู่ของสิ่งต่างๆ (Object permanence) จากการที่แม่ปิดหน้า หรือซ่อนแอบตรงไหน แล้วเดี๋ยวเดียวก็เปิดหน้าออกมาให้เห็น เด็กจะเรียนรู้ว่าแม่หายไปจากสายตาเพียงแค่ชั่วคราวและเดี๋ยวแม่ก็กลับมานะ
2) ฝึกการจดจำข้อมูล ว่าพ่อแม่นั้นมักจะโผล่ทางไหน และคาดเดาว่าครั้งต่อไปจะเป็นทางใด
3) รู้จักอดทนรอคอย ช่วงเวลาที่แม่ปิดหน้า หรือซ่อนหลังผ้า เด็กก็ต้องรอว่าเมื่อไรแม่จะเปิดหรือโผล่มา
4) พัฒนาด้านการสื่อสาร เพราะการสื่อสารสำหรับเด็กเกิดขึ้นเมื่อการยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ มองตา หรือขยับมือ แขนขาของเด็กทารกได้รับการตอบสนอง ดังนั้นปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจึงช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางการสื่อสารระหว่างกันได้ดี
5) เกิดสายสัมพันธ์ การเล่นจ๊ะเอ๋ คือช่วงเวลาที่มีลูกเป็นศูนย์กลาง การสบตา ทำเสียงสูงต่ำให้เร้าใจ ถักทอสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวให้แน่นแฟ้นจนเกิดความผูกพันขึ้นในหัวใจของลูก
และเมื่อวันเด็กที่ผ่านมา โครงการสิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก มอบ 5 เครื่องมือดูแลลูกยุคใหม่ให้เป็นของขวัญเนื่องในวันเด็กปี 2561 แก่เยาวชนและครอบครัวไทย ประกอบด้วย 1) คู่มือสิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก 2) นิทานเสริมสร้างพัฒนาการเรื่อง ‘จ๊ะเอ๋’ 3) คู่มือและโปสเตอร์เฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) รวมถึงแอปพลิเคชั่น ‘คุณลูก Khunlook’ 4) ห้องเรียนพ่อแม่ และ 5) สื่อรณรงค์ ทั้งทางโฆษณาโทรทัศน์ คลิปออนไลน์ และสปอตวิทยุ โดยสามารถดาวน์โหลดแอปฯ ได้ทั้งระบบ IOS และ Android หรือใช้งานดาวน์โหลดสื่อสร้างเสริมพัฒนาการอื่นๆ ได้ทางเว็บไซต์ khunlook.com
สำหรับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองท่านไหนที่สนใจรับข้อมูลการเลี้ยงลูกที่ส่งเสริมพัฒนาการ หรือติดต่ามข่าวสารการจัดห้องเรียนพ่อแม่ สามารถติดตามได้ที่แฟนเพจ สิ่งเล็กๆที่สร้างลูก นะคะ
เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก : โครงการสิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก
- 46 views