หลายคนคงตกใจ ที่ทราบข่าวว่า ปาล์ม เปรมทัต สิ้นกั้ง นายแบบป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว เขาอายุเพิ่งจะ 28 เท่านั้นเอง
มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนัก คนไทยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวปีละ 1,600 คน น้อยกว่ามะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีหลายชนิดย่อย แต่ละชนิดย่อยมีวิธีรักษา ไม่เหมือนกัน
ตามในข่าว ปาล์มเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเอเอ็มแอ็ล ทั้งประเทศไทยมีผู้ป่วย ด้วยมะเร็งชนิดนี้ เพียงปีละประมาณ 760 ราย เท่านั้น มะเร็งชนิดนี้เป็นได้ทั้งในเด็ก หนุ่มสาว วัยกลางคน และผู้สูงอายุ หาสาเหตุไม่พบ ไม่เกี่ยวกับอาหาร ไม่เกี่ยวกับสารพิษ ไม่เกี่ยวกับ ความเครียด จึงไม่สามารถป้องกันได้ มะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด เช่น เอแอ็ลแอ็ลในเด็ก มีโอกาสรักษาหายขาดสูงมาก แต่เอเอ็มแอ็ล ไม่เป็นเช่นนั้น
วงการแพทย์ถือว่า เอเอ็มแอ็ล เป็นมะเร็งที่ร้ายแรง รักษายาก การรักษามาตรฐาน คือการให้ ยาเคมีบำบัด หลังจากให้ยา 1-2 คอร์สแรก โอกาสหายประมาณ 60-80% ระหว่างนี้ ต้องรับความเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อนสารพัดชนิด ต้องใช้เลือด เกล็ดเลือด เพื่อพยุงชีวิต ถ้าหายจากมะเร็งก็จะให้ยาต่อ อีกประมาณ 4 คอร์ส เพื่อหวังหายขาด แม้ให้สูตรยาที่ดีที่สุด ครบแล้ว โอกาสหายขาดจากมะเร็ง ก็มีเพียงหนึ่งในสาม หมายความว่า มะเร็งมักดื้อยา และจะกลับมาอีกถึงสองในสามราย ถ้าต้องรักษารอบที่สอง โอกาสหายขาดน้อยมาก
ถ้าโชคดีมีผู้บริจาคไขกระดูกที่เหมาะสม หลังจากให้ยาคอร์สแรก ๆ จนหายแล้ว คุณหมอ ก็จะทำการปลูกถ่ายไขกระดูกให้ โอกาสหายขาดหลังจากการปลูกถ่ายไขกระดูก ก็จะเพิ่ม โอกาสหายขาดเป็นครึ่งหนึ่ง ไม่ได้หายชัวร์นะ แต่ถ้าไม่มีผู้บริจาคที่เหมาะสม ก็ไม่สามารถปลูกถ่ายได้ ต้องพึ่งยาเคมีบำบัดเท่านั้น แล้วลุ้นกันว่าจะโชคดีหายขาดหรือไม่
ผู้บริจาคที่เหมาะสม คือมี “เอ็ชแอ็ลเอ” ตรงกัน มักได้จากพี่น้องท้องเดียวกัน ถ้าไม่มีพี่น้อง หรือตรวจแล้วเอ็ชแอ็ลเอ ไม่ตรงกัน ก็อาจจะหาในผู้บริจาคไขกระดูกที่ได้ลงทะเบียนไว้ กับสภากาชาดไทย แต่โอกาสจะพบผู้บริจาคที่ตรงกันก็เพียง หนึ่งในห้าหมื่น ทั้งที่มีผู้แจ้ง ความจำนงบริจาคแล้วกว่า 200,000 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ยังไม่ตรง กับผู้บริจาคสักคนเดียว แต่ดูเหมือนปาล์มจะโชคดี ได้ข่าวว่าหาผู้บริจาคที่ตรงกันพบแล
เมื่อเรารู้ข่าวแล้ว เราจะให้กำลังใจผู้ป่วยมะเร็งที่รักษายากเช่นนี้อย่างไรดี?
จากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยหลายร้อยคน เพื่อตอบคำถามข้อนี้ ได้ความว่า คำพูดว่า “สู้ ๆ” ไม่ได้ให้กำลังใจแก่พวกเขา คำแนะนำต่าง ๆ ไม่ได้ให้กำลังใจแก่พวกเขา ถ้าคนไข้เลือกเข้าสู่กระบวนการรักษาที่โหดร้ายเช่นนี้ ก็ชัดเจนว่าเขาสู้อยู่แล้ว การได้ยินพูดว่าสู้ ๆ คนไข้บางคนจะรู้สึกว่า คิดว่าเขาไม่สู้อยู่หรือไง? คนพูดที่ไม่เคยเจอเคมีบำบัดเอง แล้วจะแนะนำอะไรเขาได้ คนไข้หลายคนรำคาญคำพูดและคำแนะนำแบบนี้ จึงไม่อยากบอกให้ชาวบ้านรู้ว่าตัวเองป่วย คำพูดที่เต็มไปด้วยความหวังดีเหล่านั้น ไม่ได้ช่วยอะไรเลย และคนไข้ก็ไม่ได้รู้สึกว่าได้กำลังใจเลยแม้แต่น้อย
การส่งดอกไม้มาก็ไม่เหมาะ คนไข้ที่กำลังรับเคมีบำบัด มีภูมิคุ้มกันต่ำ ดอกไม้อาจปนเปื้อนด้วยเชื้อราและเชื้อโรค อาหารที่กินได้ก็ต้องสุกสะอาดเท่านั้น กินก็ไม่ค่อยได้ กลิ่นและรสอาหารเพี้ยนไปหมด ส่งหนังสือธรรมะมาให้ก็เสี่ยงมาก เพราะบางคนอาจจะคิดว่า แช่งเขาหรือเปล่า การถามไถ่เกี่ยวกับความเจ็บป่วยของเขา ก็น่าเบื่ออย่างยิ่ง รู้ไหมว่า เขาต้องตอบคำถามคนโน้นคนนี้ ซ้ำแล้วซ้ำอีก กี่ร้อยครั้ง?
ถ้าอยากให้กำลังใจกันจริง ๆ เราก็ควรทำอะไรบางอย่างเพื่อผู้ป่วยทั้งมวล โดยไม่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่น ไปบริจาคเลือด แล้วค่อยแจ้งคนไข้ว่า เราได้ทำดีเพื่อผู้อื่นแล้ว คนไข้จะได้ทราบว่า ข่าวการเจ็บป่วยของเขา ได้สร้างความแตกต่างให้กับสังคมโดยรวม คนที่เคยบริจาคแล้ว ก็เพิ่มการบริจาคให้เป็นประจำ ทุก 3 เดือน ผู้ที่เคยบริจาคเลือดแล้วเท่านั้นที่สามารถบริจาคสเตมเซลได้
ถ้าไปเยี่ยมก็ขอให้คุยเรื่องสนุก ๆ ตอนก่อนป่วยคุยกันอย่างไร เรื่องอะไร ตอนป่วยแล้ว ก็จงคุยแบบเดิม อย่าชวนคนป่วยคุยเรื่องความเจ็บป่วย ถ้าอยากรู้ให้ถามคนอื่น การคุยเรื่องสนุกจะทำให้เขาลืมความเจ็บป่วย ถ้าทำไม่ได้ก็อย่ามาเยี่ยมกันเลยดีกว่า การไปโพสต์ให้คนอื่นรู้ เป็นบาปอย่างยิ่ง ไม่มีใครอยากดังเพราะความเจ็บป่วยหรอกนะ
ถ้าคิดจะส่งหนังสือธรรมะหรือแนะนำการปฏิบัติธรรมให้คนไข้ เอาตัวเราเองไปสวดมนต์ ขอพรพระให้คุ้มครองเขาจะดีกว่า หรือจะพิจารณาสังขารของตัวเราเอง หรือมรณสติ ฝึกจิตตัวเองให้เข้มแข็งก่อน แม้รู้ดีแล้วพึงเข้าใจว่า คนเรามีภูมิธรรมไม่เท่ากัน อย่ายัดเยียดสิ่งที่เราคิดว่าดีให้เขา ต่อเมื่อคนไข้ร้องขอคำแนะนำ จึงจะสมควรแนะนำได้
คำแนะนำจากคนทั่วไปที่ไม่เคยเป็นมะเร็งมาก่อน ไม่ค่อยมีความหมายสำหรับคนไข้โรคมะเร็ง แต่ถ้าคำแนะนำนั้นมาจากคนเป็นมะเร็งชนิดเดียวกันมาก่อน จะน่าสนใจขึ้นมาก เพราะคนนั้นเขาเคยผ่านมาแล้ว หลายครั้งเวลาคนไข้ให้กำลังใจกัน ก็ไม่ได้พูดอะไรกันหรอก แค่กอดกันก็ได้กำลังใจแล้ว
คนไข้หลายคน เมื่อรู้ตัวว่ารักษายาก เช่น รักษารอบแรกแล้วไม่หาย ปลูกถ่ายไขกระดูกแล้ว ก็ไม่หาย พวกเขาเลือกที่จะ “ไม่สู้” ต่อ แต่ขออยู่กับมะเร็งอย่างสันติ หรือใช้ชีวิตเต็มที่ เข้าใจสัจจธรรม ไม่กลัวตาย คนรอบข้างพึงให้กำลังใจ โดยเคารพทางเลือกของเขา สนับสนุนโดยการเติมเต็มชีวิตที่เขาเลือก แม้ว่าตัวเราเองจะ ไม่เห็นด้วยก็ตาม การพูดกับเขาว่า “สู้ ๆ” ย่อมผิดกาลเทศะอย่างยิ่ง ถ้าไม่แน่ใจว่าคนไข้จะเอายังไง ทำเป็นไม่รู้เรื่องจะดีกว่านะ
ผู้เขียน : ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ชมรมเพื่อนมะเร็งไทย
- 796 views