สมาคมวิทยาลัยแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาเผย จำนวนนักศึกษาหญิงผ่านการตอบรับเข้าศึกษาต่อยังวิทยาลัยแพทย์สูงกว่านักศึกษาชายเป็นครั้งแรก
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 สมาคมวิทยาลัยแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (Association of American Medical Colleges: AAMC) รายงานว่า จำนวนนักศึกษาหญิงในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50.7 จากจำนวนนักศึกษาใหม่ 21,338 คนเทียบกับร้อยละ 49.8 เมื่อปีก่อน และจำนวนนักศึกษาหญิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาสวนทางกับจำนวนนักศึกษาชายซึ่งลดลงร้อยละ 2.3
โดยรวมจำนวนนักศึกษาใหม่ในวิทยาลัยแพทย์ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ในปีนี้ด้วยตัวเลข 89,904 คน อย่างไรก็ดีสถิติการสมัครเข้าศึกษาต่อวิทยาลัยแพทย์กลับลดลงร้อยละ 2.6 จากปีก่อนซึ่งนับเป็นการถดถอยมากที่สุดในรอบ 15 ปี นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนผู้สมัครชายลดลงอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปี 2548
เป็นที่น่าสนใจว่าผู้สมัครเข้าศึกษาต่อวิทยาลัยแพทย์สหรัฐฯ ในปี 2560 ยังคงมีความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการที่โดดเด่นเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา
ร้อยละ 77 เคยทำงานจิตอาสาให้บริการทางการแพทย์
ร้อยละ 77 มีประสบการณ์ด้านการศึกษาวิจัย
ค่าเฉลี่ย GPA ระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้นเป็น 3.56 และมัธยฐานคะแนน MCAT® เท่ากับ 505 คะแนน
แม้ตัวเลขผู้ศึกษาเข้าศึกษาต่อวิทยาลัยแพทย์ลดลงในปี 2560 แต่ยอดผู้สมัครเข้าศึกษาต่อก็เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 ตั้งแต่ปี 2545 และจำนวนนักศึกษาใหม่ก็เพิ่มขึ้นร่วมร้อยละ 30 ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา และนับตั้งแต่ปี 2552 ก็มีวิทยาลัยแพทย์เปิดใหม่รวม 22 แห่ง รวมถึงวิทยาลัยแพทย์ 2 แห่งซึ่งเพิ่งเปิดที่มหาวิทยาลัยเนวาดาและมหาวิทยาลัยวอชิงตันเมื่อปีก่อน
นักศึกษาแพทย์เข้าใหม่ยังคงมีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ โดยจำนวนนักศึกษาแอฟริกันอเมริกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 ในระหว่าง 2 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับนักศึกษาฮิสแปนิก ละติน หรือสเปนซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4
“เราดีใจที่มีนักศึกษาหญิงในวิทยาลัยแพทย์เพิ่มขึ้นครับ” นพ.แดร์เรล จี เคิร์ช (Darrell G. Kirch, MD) ประธานและซีอีโอ AAMC เผย “ตัวเลขนักศึกษาใหม่ในปีนี้สะท้อนว่าสาขาการแพทย์เป็นวิชาชีพที่ผู้หญิงให้ความสนใจมากขึ้น ขณะที่วิทยาลัยแพทย์เองก็มีบรรยากาศการเรียนการสอนที่เปิดกว้างสำหรับผู้หญิง และแม้เรายังคงต้องพยายามส่งเสริมความหลากหลายของนักศึกษา คณะวิชา รวมถึงความเป็นผู้นำ แต่สถิติในปีนี้ก็ถือว่าเป็นก้าวสำคัญครับ”
ข้อมูลที่ AAMC สำรวจจากนักศึกษาใหม่ยังเผยด้วยว่า
นักศึกษาระบุว่าการจัดสรรเวลางานและเวลาส่วนตัวให้สมดุลเป็น “ปัจจัยหลักในการพิจารณา” แทน “อนาคตที่มั่นคง” หรือ “ความสามารถในการชำระหนี้” ในการปฏิบัติวิชาชีพภายหลังสำเร็จการศึกษา
ราวร้อยละ 30 ของนักศึกษาใหม่วางเป้าหมายที่จะปฏิบัติวิชาชีพในพื้นที่ขาดแคลน
นพ.เคิร์ช ตั้งข้อสังเกตว่า “ถึงแม้การขยายวิทยาลัยแพทย์ชี้ให้เห็นแนวโน้มเชิงบวก แต่การเพิ่มจำนวนสถานศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ที่เริ่มส่อเค้า ในการที่จะแก้ปัญหาได้ตรงจุดนั้นจำเป็นที่สภาคองเกรสจะต้องยกเลิกมาตรการจำกัดความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางสำหรับแพทย์ฝึกหัดซึ่งตราไว้ตั้งแต่ 20 ปีก่อน ท่ามกลางแนวโน้มของการเดินหน้าสู่สังคมผู้สูงอายุนี้ AAMC จึงเรียกร้องให้สภาคองเกรสผ่านกฎหมายเพิ่มการสนับสนุนแก่แพทย์ฝึกหัดเพื่อที่ผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้มากขึ้นครับ”
ขอบคุณข่าวจาก สมาคมวิทยาลัยแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (Association of American Medical Colleges: AAMC)
- 62 views