ประธานอนุกรรมการส่งเสริมการประกอบวิชาชีพ สภาเทคนิคการแพทย์เผยเหตุผลขอปรับอัตราเงิน พ.ต.ส. เป็น 3 กลุ่มตามความเชี่ยวชาญ ย้ำเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรม ยิ่งมีประสบการณ์ควรได้ค่าตอบแทนมาก วอน ก.พ. เห็นใจปรับเพิ่มให้ ชี้ทำงานเสี่ยงไม่ต่างจากวิชาชีพอื่น ควรเห็นความสำคัญนักเทคนิคการแพทย์มากกว่านี้
ดร.สลักจิต ชุติพงษ์วิเวท
ดร.สลักจิต ชุติพงษ์วิเวท ประธานอนุกรรมการส่งเสริมการประกอบวิชาชีพ สภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวถึง กรณีที่สภาเทคนิคการแพทย์เสนอขอปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุข (พ.ต.ส.) ของวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ว่า เป็นการเสนอเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน พ.ต.ส.ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
ดร.สลักจิต กล่าวว่า เมื่อต้นปี 2560 ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (ปัจจุบันคือกองยุทธศาสตร์และแผนงาน) กระทรวงสาธารณสุข กับผู้แทนวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีการเสนอขอให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ปรับเพิ่มเงิน พ.ต.ส. นักเทคนิคการแพทย์ จาก 1,000 บาท เป็น 2,000-4,000 บาท แต่เนื่องจากเป็นการดำเนินการเร่งด่วนจึงไม่ได้มีการปรึกษากันในสภาเทคนิคการแพทย์
อย่างไรก็ดี ต่อมาได้มาการนำเรื่องนี้มาหารือในสภาเทคนิคการแพทย์เพื่อรับฟังความคิดเห็นสมาชิกจาก sector ต่างๆ และมีความเห็นว่าควรจะปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น มีการกำหนดช่วงการจ่ายโดยเสนอให้กำหนดเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มทั่วไป 2,000 บาท, กลุ่มหัวหน้างาน/สาขา 3,500 บาท และกลุ่มผู้มีประสบการณ์พิเศษเพิ่มเติม 5,000 บาท โดยได้เสนอให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแล้วเมื่อเดือน พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา
“ของเดิมเขียนว่า 2,000-4,000 บาท ยังไม่เคลียร์ เราก็ปรับปรุงให้เป็นธรรมชัดเจนมากขึ้นตามระยะเวลาการทำงานและความเชี่ยวชาญ ยิ่งมีประสบการณ์ทำงาน ค่าตอบแทนก็ควรเพิ่มมากขึ้น” ดร.สลักจิต กล่าว
ดร.สลักจิต กล่าวอีกว่า ขั้นตอนหลังจากนี้คนที่จะตัดสินใจว่าจะเพิ่มเงิน พ.ต.ส. หรือไม่คือกระทรวงสาธารณสุขและ ก.พ. ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเชื่อว่ามีความเข้าใจความจำเป็นของวิชาชีพเทคนิคการแพทย์และหวังว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงคำขอ ส่วน ก.พ. ทางสภาเทคนิคการแพทย์อยากให้ ก.พ.มองเห็นวิชาชีพนี้มากขึ้น ที่ผ่านมากำหนดเงินพ.ต.ส. แบบ flat rate 1,000 บาทมากว่า 20 ปี น้องใหม่เข้ามาทำงานได้ พ.ต.ส. 1,000 บาท รุ่นพี่ทำงานมา 30 ปี ก็ได้ 1,000 บาท คงไม่ใช้เรื่องที่ถูกต้อง เพราะค่าตอบแทนควรเพิ่มตามความเชี่ยวชาญ
นอกจากนี้ วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ก็มีความเสี่ยงไม่น้อยกว่าวิชาชีพอื่นๆ ต้องสัมผัสกับสิ่งไม่น่าอภิรมย์ต่างๆ ยิ่งเวลาเกิดโรคระบาด เช่น อีโบล่า ก็ต้องผ่านแล็บเพื่อตรวจว่าใครป่วยหรือไม่ จะเห็นว่ามีความเสี่ยงไม่ต่างจากวิชาชีพอื่น จึงอยากให้ก.พ. เห็นความสำคัญของเทคนิคการแพทย์และปรับอัตรา พ.ต.ส. ให้เกิดความเป็นธรรมกว่านี้
- 468 views