กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ขอความร่วมมือ รพ.เอกชน และคลินิกทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งจากอุบัติเหตุ หรือโรคประจำตัวกำเริบ ในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลปีใหม่ จัดแพทย์ พยาบาลประจำแผนกฉุกเฉินตลอดเวลาทำการ
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ประชาชนจำนวนมากต่างมีแผนการที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัว หรือกลับภูมิลำเนา ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวทั่วประเทศจะมีการเดินทางสัญจรที่ค่อนข้างคับคั่ง ประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดอาการเจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวที่อาจจะส่งผลให้เกิดการเสียชีวิต หรือความพิการต่อตัวผู้ป่วยได้
ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรม สบส. ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 พฤศจิกายน 2560 แม้จะไม่พบการร้องเรียนว่ามีสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดปฏิเสธการรักษาพยาบาลผู้ป่วย แต่เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ทุกแห่งทั้งรัฐ และเอกชนอย่างทันท่วงทีโดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องค่าใช้จ่าย ภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP)
กรม สบส.จึงได้แจ้งขอความร่วมมือจากสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ทั้งโรงพยาบาลเอกชน 350 แห่ง และคลินิกกว่า 20,000 แห่ง ให้เตรียมความพร้อมบริการการแพทย์ฉุกเฉินแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอาจจะเกิดจากการเจ็บป่วยกะทันหัน หรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร ตลอดช่วง 7 วันอันตราย ของเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2560 - 3 มกราคม 2561 ซึ่งจะเพิ่มโอกาสรอดชีวิต และลดความเสี่ยงที่จะเกิดความพิการต่อตัวผู้ป่วย
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมของการให้ “บริการฉุกเฉิน” สถานพยาบาลทุกแห่ง ต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน และให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้พ้นขีดอันตราย หากมีความจำเป็นหรือหากผู้ป่วย/ญาติมีความประสงค์จะไปรับการรักษาจากสถานพยาบาลอื่น สามารถส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นได้และต้องจัดให้มีการส่งต่อตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของสถานพยาบาลนั้นๆ
ทั้งนี้ หากสถานพยาบาลแห่งใดประสบปัญหาในการวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สามารถปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ผ่านทางสายด่วน 02-872-1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- 10 views