สธ.จับมือสำนักงานตำรวจ ตรวจเลือดวัดแอลกอฮอล์ในเคสอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ 2561 นี้ เพื่อให้เกิดการดำเนินคดีกับผู้ที่ขับรถในขณะเมาสุราทุกราย หวังช่วยลดอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับได้ กรณีตำรวจสงสัยหรือคู่กรณีร้องขอ ให้ส่งตัวผู้ขับขี่ทั้ง 2 ฝ่ายที่ไม่สามารถตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ทางลมหายใจได้ไปยัง รพ.สังกัด สธ.พร้อมใบนำส่ง เพื่อเจาะเลือดและตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ ซึ่งจะนำผลตรวจที่ได้ไปใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีต่อไป
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2560 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าว “สธ.มอบของขวัญปีใหม่ 2561 สร้างสุข สร้างความปลอดภัยทั่วไทย” ว่า สำหรับช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 28 ธันวาคม 2560 – 3 มกราคม 2561 กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมสร้างความปลอดภัยร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์ “ดื่มแล้วขับ จับตรวจแอลกอฮอล์” โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขและทุกภาคส่วนในพื้นที่ จะช่วยกันลดการบาดเจ็บจากการจราจร และให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทันเวลา และมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการเสียชีวิตและความพิการลง
โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operation Center : EOC) ในส่วนกลางที่กระทรวงสาธารณสุข ระดับจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการเกิดเหตุ ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมความพร้อมบริการการแพทย์ฉุกเฉิน แจ้งเหตุเร็ว โดยขยายคู่สายแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669 เป็น 300 คู่สายทั่วประเทศ รับเร็วโดยใช้ชุดปฏิบัติการที่มีกระจายทั่วประเทศ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ เอกชน และโรงพยาบาลต่างๆ ถึงที่เกิดเหตุไม่เกิน 10 นาที ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของการออกเหตุทั้งหมด
ซึ่งปัจจุบันมีชุดปฏิบัติการครอบคลุมตำบลมากกว่าร้อยละ 90 ของตำบลทั้งหมด ส่งเร็ว ส่งต่อถึงมือแพทย์ทำการรักษาเร็ว จัดทีมแพทย์ พยาบาล เชี่ยวชาญประจำห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินในทุกโรงพยาบาล พร้อมให้การรักษาตลอด 24 ชั่วโมง
นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้ให้กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ สสส.จัดทำโครงการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ ในกรณีที่มีผู้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต เพื่อให้เกิดการดำเนินคดีกับผู้ที่ขับรถในขณะเมาสุราทุกราย ในกรณีที่ผู้ขับขี่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจแอลกอฮอล์ได้ให้ส่งไปเจาะเลือดตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และเข้มข้นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551
ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญจะมีการเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ร้อยละ 80 เป็นรถจักรยานยนต์ มักเกิดเหตุบนถนนสายรอง กลุ่มที่บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดมีอายุ 15-19 ปี รองลงมาคือ 20-24 ปี เวลาที่เกิดเหตุสูงสุด 16.00 – 21.00 น. สาเหตุสำคัญคือการดื่มแล้วขับขี่ โดยพบผู้บาดเจ็บจากการดื่มแล้วขับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 อายุต่ำกว่า 20 ปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.56 วันที่เกิดเหตุสูงสุดคือ 31 ธันวาคม 2559
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จึงเน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์ ตาม พ.ร.บ.อย่างเข้มข้น แก่สถานประกอบการและร้านค้า และประชาชนทั่วไป และร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจจับดำเนินคดีอย่างเข้มงวดในช่วงก่อนเทศกาลและในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะกรณีการขายสุราให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี การขายสุราในสถานที่และเวลาที่ห้ามขาย การเร่ขาย การโฆษณาหรือส่งเสริมการขาย (ลด แลก แจก แถม)
นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า สำหรับระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน (Emergency Care System : ECS) ได้มอบให้ผู้ตรวจราชการกระทรวง กำกับติดตามการทำงานของจังหวัด วางแผนรองรับสถานการณ์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ในแต่ละเขต และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน (Basic Life Support : BLS) และหน่วยปฏิบัติการระดับสูง (Advanced Life Support : ALS) ประจำบนเส้นทางถนนสายหลัก ที่มีจุดตรวจ/ จุดบริการอยู่ห่างกันมาก เพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว ขณะนี้มีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับรวม 8,621 หน่วย เรือปฏิบัติการฉุกเฉิน 155 ลำ เครื่องบิน 129 ลำ รถปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 19,422 คัน และเตรียมพร้อมผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 165,158 คน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาพบว่า จำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จำนวนอุบัติเหตุเกือบ 4,000 ครั้ง สาเหตุมากที่สุดมาจากการเมาสุราร้อยละ 36.59 รองลงมาเป็นการขับรถเร็วร้อยละ 31.31 และตัดหน้ากระชั้นชิดร้อยละ 17.84 โดยถนนทางหลวงมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด และถนนที่มีผู้บาดเจ็บมากที่สุด คือถนน อบต./หมู่บ้าน
กรมควบคุมโรค ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เฝ้าระวัง ตรวจเตือนและประชาสัมพันธ์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในช่วงก่อนเทศกาล และดำเนินการตรวจจับอย่างเข้มข้นในช่วงเทศกาล 7 วัน โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเสี่ยง 100 ลำดับแรกของอำเภอทั้งหมด มี 109 อำเภอ อยู่ใน 48 จังหวัด ซึ่งมีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 40 ของทั้งประเทศ (878 อำเภอ)
ในกรณีที่อุบัติเหตุนั้นทำให้มีผู้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต เพื่อให้เกิดการดำเนินคดีกับผู้ที่ขับรถในขณะเมาสุราทุกราย กรณีเจ้าพนักงานตำรวจสงสัยหรือคู่กรณีร้องขอ ให้ส่งตัวผู้ขับขี่ทั้ง 2 ฝ่ายที่ไม่สามารถตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ทางลมหายใจได้ไปยังโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขพร้อมใบนำส่ง เพื่อเจาะเลือดและตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ ซึ่งจะนำผลตรวจที่ได้ไปใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีต่อไป
- 26 views