ศวปถ.ห่วงภาพรวมอุบัติเหตุดื่มแล้วขับเทศกาลปีใหม่ ติงข้อมูลธุรกิจน้ำเมา อ้างเมาแล้วขับติดอันดับ 8 ขัดหลักการความเป็นจริง เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ไม่ได้ตรวจวัดแอกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกราย ย้ำปัญหาใหญ่กว่าคดีจราจร ด้านเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา เดินหน้าค้านธุรกิจน้ำเมา วิ่งเต้นแก้กฎหมายเปิดช่องขายเสรี
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อ้างว่า ตัวเลขคดีอุบัติเหตุจราจรที่มีการดื่มและเมาแล้วขับ มีปริมาณแอลกอฮอล์ มากกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีสัดส่วนอยู่ในลำดับที่ 8 ของคดีอุบัติเหตุจราจรนั้น พบว่า ขัดกับหลักการความเป็นจริง เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ไม่ได้ตรวจวัดแอกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกราย ด้วยข้อจำกัดคือ ขาดอุปกรณ์ตรวจวัด รวมทั้งอุปกรณ์ที่มีอยู่ก็ถูกใช้กับ ตำรวจจราจร ไม่ได้อยู่ที่พนักงานสอบสวน การจะตรวจวัดต้องกลับมาที่ สภ.อีกทั้งในรายที่ตรวจวัด ก็มีโอกาสคลาดเคลื่อน ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะไม่ได้วัดทันที ซึ่งจะพบได้ใน 3 ลักษณะ คือ
1.กรณีวัดปริมาณแอลกอฮอล์ที่โรงพยาบาล ก็ต้องรอให้พนักงานสอบสวนเดินทางไปแจ้งให้ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตรวจวัด และถ้าเสียชีวิต การตรวจวัดก็ต้องอาศัยเทคนิคเฉพาะ ซึ่งมักไม่ได้มีการตรวจ
2.กรณีที่ผู้เกิดเหตุไม่ได้ไปที่โรงพยาบาล ทางพนักงานสอบสวนก็ต้องนำผู้เกิดเหตุ มาตรวจวัดที่โรงพัก
3.ผู้เกิดเหตุหนีหายไปจากจุดเกิดเหตุ และหากตามตัวมาตรวจวัดภายหลัง แต่ถึงมีการตรวจพบ ก็อ้างได้ว่าเป็นการดื่มหลังเกิดเหตุ
ซึ่งทั้ง 3 กรณี ล้วนส่งผลต่อความคลาดเคลื่อนในการตรวจวัด เพราะทุกๆ 1 ระดับแอลกอฮอล์ลดลง 15 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ยืนยันชัดว่า การตรวจวัดแอลกอฮอล์กับผู้ที่บาดเจ็บรุนแรง/เสียชีวิต ที่เข้ารับการรักษาใน โรงพยาบาล 466 ราย พบผู้ขับขี่ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มากถึง 56.6 % แม้จะเป็นเฉพาะกลุ่มที่เกิดเหตุรุนแรง แต่ก็ชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับ มีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด ยิ่งโดยเฉพาะวันที่ 29 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันแรกของเทศกาล พบผู้บาดเจ็บที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นถึง 33% หรือจาก 816 เป็น 1,089 ราย โดยตลอด 7 วันพบเยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี ถึง 1 ใน 5 ร้อยละ 20.45 ประสบอุบัติเหตุโดยมีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วยถึง 1,864 ราย เฉลี่ย 266.3 ราย/วัน หรือ 11 คน/ชั่วโมง อยากฝากว่า การเดินทางช่วงปีใหม่งดดื่ม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน
นายคำรณ ชูเดชา
นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อให้ขายสุราได้อย่างเสรีมากขึ้นว่า ตามที่ทางเครือข่ายฯได้เข้าพบ ทีมเลขาคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน เพื่อให้ความเห็นคัดค้านการแก้ พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยยืนยันว่าการแก้กฎหมายครั้งนี้ฟังไม่ขึ้นและไม่สมเหตุสมผล ล้วนเป็นเพื่อประโยชน์ของธุรกิจทั้งสิ้น ข้อมูลฝ่ายธุรกิจหลายอย่างไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เช่น การกล่าวอ้างนักท่องเที่ยวจะไม่มาเที่ยว เพราะถูกควบคุมวันเวลาห้ามขาย ห้ามขายในวันพระใหญ่ ความพยายามจะให้เอาผิดแต่ผู้ดื่ม เช่น เด็กและเยาวชน อ้างสถิติอุบัติเหตุเมาไม่ขับลำดับ 8
ซึ่งเป็นความจริงที่ไม่ครบถ้วน อ้างเพื่อตัวเอง ธุรกิจเหล้าทุกค่ายก็ทำตัวศรีธนนชัย ทำผิดหลบเลี่ยงกฎหมายมาโดยตลอด แค่ทำให้ถูกยังทำไม่ได้ ยังคิดการใหญ่แก้กฎหมายถ้ารัฐบาลยอมก็เท่ากับปล่อยผีสุราค้าขาย บริโภคเสรี ผลกระทบมากขึ้นใครจะรับผิดชอบ ที่ผ่านมาธุรกิจเหล่านี้รับผิดชอบแค่ไหน มีแต่กอบโกยบนความสูญเสียชองประเทศ ส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะไม่หลงกลเล่ห์เหลี่ยมของธุรกิจน้ำเมากลุ่มนี้
“มันไม่ใช่กฎหมายเร่งด่วนและสร้างภาระให้ประชาชนที่จะต้องแก้ ที่จริงเรื่องนี้กรรมการแก้ไขกฎหมาย ไม่ควรส่งมาให้อนุกรรมการพิจารณาตั้งแต่แรก ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการแก้ มีแต่กลุ่มธุรกิจผลิตจำหน่ายสุราที่มีแต่ได้กับได้ อีกทั้งธุรกิจเอง ควรต้องรู้แต่แรกแล้วว่า สุรา คือสินค้าที่รัฐควบคุมการขาย การบริโภค เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพสังคม มันไม่ใช่สินค้าธรรมดาเหมือนสินค้าอื่น แต่มันคือยาเสพติด ที่รัฐอนุญาตให้ขาย อย่างควบคุม เรื่องนี้ ทางเครือข่ายฯจะติดตามอย่างใกล้ชิด และยืนยันจะต่อต้านขบวนการแก้ไข กฎหมายของกลุ่มธุรกิจจนถึงที่สุด” นายคำรณ กล่าว
- 351 views