นักวิชาการด้านสตรี เผย ผู้หญิงป่วยโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย เหตุสังคมตั้งความหวัง ปัญหาครอบครัวรุมเร้า ต้องแบกรับความรับผิดชอบ พยาบาล ระบุ วิธีการรักษาคือทำให้ผู้หญิงรู้จักอำนาจของตัวเอง
รศ.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมเพศภาวะและสุขภาพสตรี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวในเวทีเสวนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพหัวข้อ “ทุกข์เศร้าใต้เงาเพศภาวะ: รากเหง้าของภาวะซึมเศร้าในผู้หญิงและการบำบัดที่ยั่งยืน” ซึ่งอยู่ภายใต้งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ตอนหนึ่งว่า น้อยคนจะมีความเข้าใจเรื่องเพศภาวะ โดยเฉพาะความเข้าใจต่อเพศหญิงที่ต้องแบกรับความกดดันจากมุมมองของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเป็นบุตรสาวที่ดี ภรรยาที่ดี แม่ที่ดี รวมทั้งในปัจจุบันที่เพศหญิงต้องสามารถทำงานทั้งในและนอกบ้านได้
“เพศหญิงถูกสอนว่าต้องดูแลผู้อื่น ต้องอดทนต่อปัญหาต่างๆ ในครอบครัว โดยที่ไม่สามารถนำไปพูดคุยกับคนอื่นได้ จึงมักจะต้องเก็บความเครียดเอาไว้กับตัวเอง” รศ.สมพร กล่าว
รศ.สมพร กล่าวว่า หากมีโอกาสพูดคุยกัยคนไข้ที่มีประสบการณ์ซึมเศร้า รวมทั้งพิจารณาจากผลการศึกษาและงานวิจัยหลากหลายเล่มจะพบว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันก็คือความรุนแรงจากคู่สมรส และเศรษฐกิจ รวมทั้งเพศภาวะคือสาเหตุการซึมเศร้าของเพศหญิง
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองทางการแพทย์ส่วนใหญ่มักมองว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากตัวบุคคล แนวคิดในการรักษาจึงคิดว่าเป็นเรื่องของสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุลจึงทำให้เกิดอาการ หรือมองว่าเกิดจากความเครียดเรื้อรังจากมุมมองด้านลบ หรือแม้แต่มองว่าเป็นเพราะขาดทักษะในการแก้ไขปัญหา การรักษาจึงเน้นหนักไปที่ปรับวิธีคิดเพื่อแก้ไขความเครียด เช่น ระดับเล็กน้อยอาจเริ่มให้ไปออกกำลังกายทำจิตใจให้สงบเพื่อปรับสารเคมีในร่างกาย ระดับปานกลางเริ่มให้รับประทานยา หรือระดับรุนแรงคือช็อตไฟฟ้า
นางไพจิตร ประสานพันธ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลกันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ หนึ่งในผู้ที่ได้เข้ารับการอบรมโครงการบำบัดรักษาโรคซึมเศร้าที่มีความละเอียดอ่อนด้านเพศภาวะ กล่าวว่า รูปแบบของการบำบัดคือการสอนให้เพศหญิงรู้จักอำนาจของตัวเอง มีความกล้าในการใช้เหตุผลต่อรองอำนาจ คือการเรียนรู้และมองปัญหาไปถึงต้นตอของเขา ซึ่งจะช่วยแก้ไขได้มากขึ้น
นางสุกัญญา ศรเพชร ตัวแทนผู้รับบริการจาก อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีปัญหาครอบครัวแต่ปรึกษาใครไม่ได้จึงต้องเก็บเอาไว้คนเดียว และก็ไม่ค่อยมีเพื่อนเพราะอยู่แต่บ้านไม่ได้ออกสังคม จนปวดไมเกรนและถูกวินิจฉัยว่าป่วยซึมเศร้าในท้ายที่สุด
“ช่วงที่กินยา พยาบาลก็แนะนำว่าให้คิดบวก มองโลกในแง่ดี แต่เมื่อกลับไปบ้านก็ต้องเจอกับปัญหาที่ทำให้เครียดอยู่เช่นเดิม ถามว่าแล้วจะทำให้มองโลกในแง่ดีได้อย่างไร นั่นจึงเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับคนป่วยโรคนี้ หากคนไม่เข้าใจก็จะคิดว่าสำออยหรือเรียกร้องความสนใจ" นางสุกัญญา กล่าว
อย่างไรก็ดี เมื่อได้เข้าร่วมกระบวนการบำบัดก็เริ่มเข้าใจว่าตัวเองกำลังถูกทำร้ายจิตใจอยู่ เริ่มมองถึงสิทธิที่ตัวเองควรมี นำไปสู่การเปิดอกคุยถึงความต้องการกับสามี และสามีก็เริ่มรับได้และเข้าใจ ปัญหาก็เริ่มคลี่คลายลง
“ถ้ารู้ว่าสามีสามารถเปลี่ยนได้มากขนาดนี้ ก็คงจะเปิดใจพูดคุยไปตั้งนานแล้ว” นางสุกัญญา กล่าว
พญ.วิรัลพัชร กิตติธะระพันธุ์ รองผู้อำนวยการสำนักบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความเจ็บป่วยทางจิตเวชนับเป็นปัญหาช่องว่างของสังคม เพราะผู้ป่วยยังเข้าถึงการรักษาได้น้อย ในประเทศไทยมีผู้ป่วยประเภทนี้ประมาณ 9 แสนคน อย่างไรก็ตามด้วยการผลักดันและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็ทำให้สัดส่วนการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจาก 3% เป็น 50%
"เรื่องเพศภาวะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ และต้องผลักดันเข้าไปในกระบวนการรักษา พร้อมกับการพัฒนาระบบและพัฒนากำลังคน” พญ.วิรัลพัชร กล่าว
- 1312 views